คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้วลูกหนี้ยังคงนำเงินเข้าบัญชีและเบิกเงินไปจากบัญชี ถือว่าได้มีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปโดยไม่มีกำหนด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันเลิกสัญญา เจ้าหนี้ได้ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน 30 วัน ลูกหนี้ได้รับหนังสือบอกกล่าวในวันที่ 29 มิถุนายน 2528 จึงถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2528
เมื่อเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้ เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 149 ซึ่งเป็นความรับผิดที่โจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องจะต้องชำระต่อศาล ยังไม่เกิดมูลหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาและให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แล้วจำเลยจึงจะมีความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมตามมาตรา 161มูลหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นตามคำพิพากษา หาใช่เกิดขึ้นเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีไม่ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำค่าฤชาธรรมเนียมมาขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมากจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เจ้าหนี้รายที่ ๗ ยื่นคำขอรับชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัยพ์เด็ดขาด และค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษา รวมเป็นเงิน ๒,๘๐๐,๔๔๗.๑๘ บาทโดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ ๑ ส่วนที่เหลือขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ฑ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๖(๓)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควารให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน ๒,๖๗๗,๗๔๖.๐๗ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง โดยให้ได้รับชำระหนี้จากเงินได้จากการขายทรัพย์จำนองตามมาตรา ๙๖(๓) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ หากยังขาดอีกเท่าใดจึงให้ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา ๑๓๐(๘) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเป็นเงินจำนวน ๒,๓๗๔,๔๖๗.๑๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี ในต้นเงิน๒,๓๐๕,๕๑๙.๖๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๘ เป็นต้นไปถึงวันที่๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘ จากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบธรรมดาไม่ทบต้นอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี จากต้นเงินอันเป็นยอดหนี้ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม๒๕๒๘ นับแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๘ร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๔มีนาคม ๒๕๒๙ และร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจจฉัยว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ได้ต่อสัญญาออกไปมีกำหนด ๑๒ เดือน ตามเอกสารหมาย จ.๒๓ ได้ครบกำหนดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๘ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วไม่มีการเลิกสัญญาลูกหนี้ที่ ๒ ยังคงนำเงินเข้าบัญชีและเบิกเงินไปจากบัญชี ถือว่าได้มีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปโดยไม่มีกำหนด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันเลิกสัญญา เมื่อวันที่ ๒๘มิถุนายน ๒๕๒๘ เจ้าหนี้ได้ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน๓๐ วัน ลูกหนี้ทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวในวันที่ ๒๙ มิถุนายน๒๕๒๘ แต่เมื่อครบ ๓๐ วันแล้วลูกหนี้ที่ ๒ ไม่ชำระหนี้ จึงถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ๑๘.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๒,๓๐๕,๕๑๙.๖๐ บาท จนถึงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม๒๕๒๘ จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนดอกเบี้ยถัดจากวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘ นั้นเจ้าหนี้ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ธนาคารเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราเท่าใด และภายหลังจากเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราใด เจ้าหนี้จึงคงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์กำหนด ฎีกาส่วนนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น
สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับตามคำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรีคดีหมายเลขแดงที่ ๓๖๖๘/๒๕๒๙ จำนวน ๖๙,๐๔๗.๕๐ บาทนั้น เห็นว่า ลูกหนี้ทั้งสองถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ ภายหลังที่ลูกหนี้ทั้งสองถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าค่าฤชาธรรมเนียมเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อใด ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งสอง เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๙ ซึ่งเป็นความรับผิดที่โจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องจะต้องชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลยังไม่เกิดมูลหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาและให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แล้ว จำเลยจึงจะมีความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑คดีดังกล่าวศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๙มูลหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นตามคำพิพากษา หาใช่เกิดขึ้นเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีไม่ ค่าฤชาธรรมเนียมจึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำมาขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔ ฎีกาส่วนนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองในต้นเงิน๒,๓๐๕,๕๑๙.๖๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๘ เป็นต้นไป ถึงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘ จากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบธรรมดาไม่ทบต้นอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินอันเป็นยอดหนี้ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share