คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4395/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คดีอาญายังไม่ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องมีคำสั่งว่าคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดี และได้ตัวจำเลยมาพิจารณา ปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ในกรณีเช่นนี้ แม้คดีขาดอายุความจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ก็ตาม แต่ก็หามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์ไม่ คดีส่วนแพ่งจึงยังต้องดำเนินคดีต่อไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377, 390 และขอให้จำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาล 23,376 บาท ค่าขาดรายได้ในการประกอบการงานเป็นเวลา 2 เดือน อัตราเดือนละ 10,000 บาท รวม 20,000 บาท และค่าที่โจทก์ได้รับทุกขเวทนาจากความเจ็บปวดซึ่งยังจะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องอีก 15,000 บาท แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 32,376 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนคดีอาญา
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งต่อไปชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อคดีในส่วนอาญาขาดอายุความแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนอาญาออกจากสารบบความและไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 บัญญัติว่า การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องไปเป็นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คดียังไม่ขาดอายุความ แต่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์และมีคำสั่งว่าคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดี และได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ในกรณีเช่นนี้ แม้คดีขาดอายุความจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ก็ตาม แต่ก็หามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์ไม่ คดีส่วนแพ่งจึงยังต้องดำเนินคดีต่อไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นดำเนินคดีส่วนแพ่งต่อมานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ในคดีส่วนแพ่งเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล่อยปละละเลยสัตว์ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคล และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377, 390 และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คดีส่วนแพ่งจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ตอนท้าย บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีแพ่งต้องไปเป็นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองและดูแลสุนัขดุร้าย ปล่อยปละให้สุนัขนั้นอยู่อย่างอิสระ มิได้กักขังหรือล่ามโซ่เพื่อป้องกันมิให้ไปกัดหรือทำร้ายผู้อื่น ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่จำเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นไม่ กลับปล่อยปละละเลย เป็นเหตุให้สุนัขตัวดังกล่าวกัดทำร้ายโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กาย ตามสำเนาใบรับรองแพทย์และภาพถ่ายบาดแผลท้ายฟ้อง กับระบุในคำขอท้ายฟ้องว่า ให้จำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาล 23,376 บาท ค่าขาดรายได้ในการประกอบการงาน เป็นระยะเวลา 2 เดือน อัตราเดือนละ 10,000 บาท รวม 20,000 บาท และค่าที่โจทก์ได้รับทุกขเวทนาจากความเจ็บปวดซึ่งยังต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องอีก 15,000 บาท แก่โจทก์ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดในการกระทำของจำเลยอันเป็นการละเมิดแก่โจทก์ ทั้งสำเนาใบรับรองแพทย์และภาพถ่ายบาดแผลท้ายฟ้องก็เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดแยกเป็นแต่ละรายการแล้วว่าจำเลยมีความเสียหายอย่างไรและเป็นจำนวนเงินเท่าใด แม้โจทก์จะมิได้แจกแจงรายละเอียดของค่าเสียหายดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ในข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 ก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องและคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวประกอบกันแล้ว จำเลยย่อมเข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์ในส่วนของค่าเสียหายจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว จึงไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยนั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share