แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานชิงทรัพย์ จะปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแปด ย่อมไม่ถูกต้องเพราะความในบทบัญญัติมาตรานี้มีเพียง 5 วรรคเท่านั้นและที่ลงโทษจำคุก 12 ปีนั้นอยู่ในระวางโทษของวรรคสี่แต่เมื่อการชิงทรัพย์รายนี้เพียงแต่กระทำในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ จึงเข้าเกณฑ์ของวรรคสอง ไม่ใช่วรรคสี่โทษที่ลงแก่จำเลยนั้นจึงเกินอัตราไปด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๔ เวลากลางคืน จำเลยใช้มีดเป็นอาวุธขู่เข็ญชิงทรัพย์เอารถยนต์บรรทุกซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายประดิษฐ์ไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรค ๘ จำคุกจำเลย ๑๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๑๑) จำคุก ๕ ปี
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรค ๘ให้จำคุกจำเลย ๑๒ ปีนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะความในบทบัญญัติมาตรา ๓๓๙นี้มีเพียง ๕ วรรคเท่านั้น และโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดอยู่ในระวางโทษของวรรคที่ ๔ แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา ๓๓๙ วรรค ๒ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปีเท่านั้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรค ๒ จำคุกจำเลย ๖ ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์