แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยฟ้องขอหย่าขาดกับภรรยาโดยอ้างว่าภรรยาเป็นชู้กับโจทก์ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิทางศาลและเป็นความจำเป็นต้องระบุชายชู้เพื่อให้ฟ้องชัดเจนไม่เคลือบคลุม อันเป็นการแสดงข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจงใจเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชน โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2510จำเลยได้ฟ้องศาลเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4701/2510 ขอให้พิพากษาหย่าขาดระหว่างจำเลยกับภรรยา โดยกล่าวในฟ้องคดีดังกล่าวเป็นใจความว่า นางสุวรรณภรรยาจำเลยได้เสียกับโจทก์ตั้งแต่โจทก์ยังบวชเป็นพระภิกษุอยู่ โจทก์ได้มาร่วมหลับนอนกับนางสุวรรณที่บ้านเลขที่ 1209ตำบลตลาดพลู จังหวัดธนบุรี ตั้งแต่เวลา 20.00 นาฬิกา และกลับวัดเวลา 5.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นจนชาวบ้านรู้เห็นกันทั่ว จึงได้ช่วยกันร้องเรียนต่อสมภารวัดปากน้ำซึ่งได้สอบสวนเรื่องนี้เมื่อโจทก์สึกจากพระภิกษุแล้วก็ไปหลับนอนร่วมกับนางสุวรรณที่บ้านดังกล่าวจนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2510 โจทก์ถูกจับได้ขณะกำลังหลับนอนอยู่ในบ้านดังกล่าวกับนางสุวรรณ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยฟ้องขอหย่าขาดและแบ่งทรัพย์สินกับภรรยาอันเป็นการใช้สิทธิทางศาลของจำเลยกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 ให้ยกฟ้องโดยไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยฟ้องภรรยาเพื่อขอหย่าและแบ่งทรัพย์สินโดยอ้างเหตุหย่าว่าภรรยาจำเลยเป็นชู้กับโจทก์นั้น เป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยมีความจำเป็นจะต้องกล่าวในฟ้องให้ภรรยาจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาโดยชัดเจน มิฉะนั้นคดีที่จำเลยฟ้องภรรยาจำเลยก็จะเป็นฟ้องเคลือบคลุม จึงถือได้ว่าข้อความที่จำเลยกล่าวในฟ้องเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน อันไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331
พิพากษายืน