คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยและสามีต่าง รับราชการมีเงินเดือนซึ่ง ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286(2) โจทก์ย่อมไม่ สามารถบังคับในคดีแพ่งให้จำเลยชำระหนี้ด้วย เงินเดือนได้ จำเลยจึงมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใด อีกถือ ได้ ว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมเล่นแชร์และประมูลแชร์จากโจทก์ไปแล้วไม่ยอมชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้คดีถึงที่สุดและโจทก์บังคับคดีแล้วจำเลยไม่มีทรัพย์สินใดที่จะบังคับคดีได้ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่มิอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนรวมอยู่ด้วย จำเลยมิได้เป็นหนี้ค่าแชร์ ส่วนหนี้ในคดีแพ่งจำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระให้โจทก์แล้ว จำเลยและสามีรับราชการมีรายได้เดือนละ 8,590 บาท เป็นหนี้โจทก์เพียงรายเดียวยังสามารถขวนขวายหาเงินชำระหนี้โจทก์ได้ ไม่ใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้มีสองจำนวน จำนวนหนึ่งเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 165/2529 แล้วจำเลยไม่ชำระจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงนำไปชำระ กับหนี้ค่าแชร์อีก 4 วงโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยบอกว่าไม่มีเงินและค้างชำระอยู่จนโจทก์ต้องร้องเรียนไปยังผู้อำนวยการ การประถมศึกษาจังหวัดระนอง ซึ่งต่อมามีการสอบสวนเรื่องนี้และจำเลยก็ยอมรับว่าร่วมเล่นแชร์และเป็นหนี้โจทก์อยู่ ยังมิได้ชำระหนี้ ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยกับสามีเป็นข้าราชการครู มีเงินเดือนรวมกันเดือนละ 8,590 บาท มีเงินเหลือเดือนละ 4,000 บาท มีรถจักรยานยนต์ 2 คันราคา 10,000 บาทเตาอบราคา 10,000 บาท จำเลยเป็นสมาชิกสหกรณ์ครูสามารถกู้เงินได้10 เท่าของเงินเดือน เห็นว่า แม้จำเลยและสามีจะมีเงินเดือน แต่ก็เป็นเงินเดือนข้าราชการซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับในคดีแพ่งให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินเดือนได้แม้จำเลยจะอ้างว่ามีเงินเหลือเดือนละ 4,000 บาท แต่จำเลยก็ไม่ชำระซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่มีความสุจริตในการชำระหนี้ ส่วนทรัพย์สินอื่นนั้นจำเลยนำสืบเพียงลอย ๆ ฟังไม่ได้ว่าจะมีทรัพย์สินดังที่อ้างรวมทั้งสิทธิกู้เงินสหกรณ์ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยมีสิทธิเช่นนั้นหรือขวนขวายกู้มาใช้หนี้โจทก์ คดีคงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบเพียงเรื่องเงินเดือนเท่านั้น จำเลยจึงมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้สินและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดอีก ถือได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ฉะนั้น แม้จำเลยจะเป็นข้าราชการ แต่เล่นแชร์แล้วไม่ชำระหนี้ค่าแชร์ ทั้งไม่แสดงว่าพยายามจะชำระหนี้หรือขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์โดยสุจริต จึงสมควรให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ข้อที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาต่อมาว่าจำเลยมีเงินฝากในธนาคารจำนวน 60,000 บาทนั้น เห็นว่าจำเลยเพิ่งมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เงินจำนวนนี้จำเลยได้มาอย่างไรไม่ปรากฏและจำเลยควรที่จะส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะเป็นเงินที่ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22,109(2) แต่จำเลยก็มิได้ปฏิบัติเช่นนั้น คงนำมาอ้างเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเป็นการอ้างภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงล่วงพ้นเวลาที่จำเลยจะพิสูจน์ว่าสามารถชำระหนี้ได้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ สมควรพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป…”
พิพากษายืน.

Share