แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มิได้ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพิ่งมายกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยมิได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่าเคลือบคลุมอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แม้ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 2 จะได้ฎีกาโดยกล่าวรายละเอียดมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าพันตำรวจตรีพ.ยักยอกเงินไปในระหว่างวันใดถึงวันใดและกล่าวถึงยอดเงินที่ ยักยอกไปว่ารวมทั้งหมดเท่าใด ทั้งยังส่งรายละเอียดเงินขาดบัญชี ระบุประเภทของเงินที่ขาดบัญชีว่าพันตำรวจตรีพ. รับเงินดังกล่าวไปเมื่อใด เป็นจำนวนเงินเท่าใด แนบมาท้ายฟ้องตามเอกสารหมายเลข 2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงแจ้งชัดพอเข้าใจได้แล้วไม่จำต้องแสดงหลักฐานการรับเงินแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดที่ไม่จำต้องบรรยายในคำฟ้องแต่อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
แม้จำเลยทั้งสามให้การเพียงว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีรายละเอียดว่าไม่สมบูรณ์อย่างไรแต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้ตามฎีกาของจำเลยได้
เมื่อไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับไว้ว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จะต้องมีตราประจำตัวอธิบดีกรมตำรวจประทับไว้ด้วยแม้ใบมอบอำนาจจะ ลงชื่ออธิบดีกรมตำรวจโดยไม่มีตราประทับก็เป็นใบมอบอำนาจที่มีผลใช้บังคับได้
คดีนี้โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 แม้ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ใบมอบอำนาจดังกล่าวก็เป็นใบมอบอำนาจที่สมบูรณ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพันตำรวจตรีพ.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและควบคุมการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชามิให้ บกพร่องหรือเกิดการทุจริตขึ้นหากจำเลยที่ 1 ตรวจสอบ ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอจำเลยที่ 1 ก็น่าจะทราบว่าพันตำรวจตรีพ. มิได้จัดทำบัญชีตามระเบียบของทางราชการเลขภายในเวลาไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่งในกองบัญชาการศึกษาจำเลยที่ 1เข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการศึกษาในปี 2517 และเหตุทุจริตเกิดขึ้นในปี 2519 หลังจากจำเลยที่ 1 เข้ามารับงานถึง 2 ปีแสดงว่าในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบของพันตำรวจตรีพ.มิได้ตรวจตราควบคุมให้พันตำรวจตรีพ. ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จึงไม่พบข้อบกพร่องดังกล่าวเป็นเหตุให้พันตำรวจตรีพ. ถือโอกาสนำเงินของราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว นับเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้บังคับบัญชา เมื่อเกิดความเสียหายจากการกระทำของพันตำรวจตรีพ. จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบร่วมกับพันตำรวจตรีพ. ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายหน้าที่การงานให้รับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับการเงินที่พันตำรวจตรีพ. ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เมื่อไม่ตรวจตราควบคุมให้พันตำรวจตรีพ.ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบก็ต้องรับผิดร่วมกับพันตำรวจตรีพ. ด้วย
เมื่อมีการทราบเรื่องว่าพันตำรวจตรีพ. ยักยอกเงินในปี 2520แต่ไม่ทราบว่ามีผู้อื่นจะต้องรับผิดชอบทางแพ่งร่วมกับพันตำรวจตรีพ.หรือไม่ จึงได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งเมื่อปี 2522 คณะกรรมการดำเนินการเสร็จแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิด และเสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับชั้น ผลที่สุดผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ สั่งให้ฟ้องจำเลยทั้งสาม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม2524 ถือว่าโจทก์ได้ทราบตัวผู้ที่จะต้องร่วมรับผิดกับพันตำรวจตรีพ. ใช้เงินให้โจทก์ในวันดังกล่าว โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่25 มิถุนายน 2525 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พันตำรวจตรีพยุง หัวหน้าแผนกการเงินและพัสดุกองบัญชาการศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสามทุจริตยักยอกเงินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๖๐,๘๘๐.๐๔ บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายได้แผ่นดินและเงินงบประมาณแผ่นดินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ทั้งนี้เพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิบัติราชการให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนเป็นเหตุให้ กรมตำรวจเสียหาย พันตำรวจตรีพยุง ได้ถึงแก่ความตายไปแล้วทายาทไม่มีทรัพย์สินจากกองมรดกที่จะต้องรับผิด โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งคณะกรรมการดังกล่าวสอบแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสาม จะต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน ๑๖๐,๘๘๐.๐๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ใบมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องไม่สมบูรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เกิน ๑ ปีขาดอายุความจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อและมีการทำสัญญารับสภาพหนี้กันระหว่างโจทก์กับพันตำรวจตรีพยุงไว้ด้วย ถือได้ว่าหนี้ตามฟ้องได้มีการใช้เงินกันไปแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยใช้เงินแก่โจทก์อีก พันตำรวจตรีพยุงได้นำเงินชำระให้โจทก์แล้วเป็นเงิน ๒๔,๔๓๑.๐๔ บาท
จำเลยที่ ๒ ให้การและแก้ไขคำให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เมื่อจำเลยที่ ๒ รับตำแหน่ง จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รวมถึงการปฏิบัติงานในหน้าที่ของพันตำรวจตรีพยุง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ เงินตามฟ้องมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๓ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน ๑๔๐,๕๑๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพิ่งมายกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยมิได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่าเคลือบคลุมอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง แม้ในชั้นฎีกาจำเลยที่ ๒ จะได้ฎีกาโดยกล่าวรายละเอียดมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย สำหรับจำเลยที่ ๓ ที่อ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า เงินที่พันตำรวจตรีพยุงยักยอกไปนั้นรับไปเมื่อใด เป็นจำนวนเงินเท่าใด และมีหลักฐานการรับกันประการใดนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าพันตำรวจตรีพยุงยักยอกเงินไปในระหว่างวันใดถึงวันใด และกล่าวถึงยอดเงินที่ยักยอกไปว่ารวมทั้งหมดเท่าใด ทั้งยังส่งรายละเอียดเงินขาดบัญชีระบุประเภทของเงินที่ขาดบัญชีว่าพันตำรวจตรีพยุงรับเงินดังกล่าวไปเมื่อใด เป็นจำนวนเงินเท่าใด แนบมาท้ายฟ้องตามเอกสารหมายเลข ๒ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงแจ้งชัดพอเข้าใจได้แล้ว ไม่จำต้องแสดงหลักฐานการรับเงินแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดที่ไม่จำต้องบรรยายในคำฟ้องแต่อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามให้การเพียงว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยไม่มีรายละเอียดว่าไม่สมบูรณ์อย่างไร แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้ตามฎีกา ของจำเลยได้ ที่จำเลยที่ ๓ โต้แย้งว่าหนังสือมอบอำนาจได้ระบุให้ฟ้องจำเลยฐานบกพร่องต่อหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามแบบแผนว่าด้วยการเก็บรักษาเงิน จนเป็นเหตุให้เงินราชการขาดบัญชี แต่จำเลยที่ ๓ ไม่มีหน้าที่จึงไม่ต้องรับผิดนั้นเห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้อที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่องความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๓ มิใช่เรื่องอำนาจฟ้องตามใบมอบอำนาจแต่อย่างใด สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โต้แย้งเรื่องอำนาจฟ้องว่าใบมอบอำนาจไม่มีตราประจำตัวอธิบดีกรมตำรวจประทับไว้นั้นเห็นว่า ไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับไว้ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ จะต้องมีตราประจำตัวอธิบดีกรมตำรวจประทับไว้ด้วยดังนั้น แม้ใบมอบอำนาจจะลงชื่ออธิบดีกรมตำรวจโดยไม่มีตราประทับก็เป็นใบมอบอำนาจที่มีผลใช้บังคับได้ นอกจากนี้จำเลยที่ ๓ โต้แย้งอีกว่าใบมอบอำนาจไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ จึงไม่สมบูรณ์นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒๑ ใบมอบอำนาจดังกล่าวจึงสมบูรณ์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มีอำนาจฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามประมาทเลินเล่อหรือไม่ และต้องรับผิดเพียงใด เห็นว่า ตามข้อนำสืบของโจทก์ซึ่งมีพันตำรวจเอกประพนธ์ และนายสวาทเบิกความตรงกันโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น รับฟังได้ว่าพันตำรวจตรีพยุง หัวหน้าแผนกการเงินและพัสดุไม่ได้จัดทำบัญชีการเงินให้ถูกต้องตามระเบียบที่วางไว้และไม่ได้จัดส่งเงินให้โจทก์ ถือโอกาสเอาเงินที่รับไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพันตำรวจตรีพยุงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและควบคุมการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชามิให้บกพร่อง หรือเกิดการทุจริตขึ้น หากจำเลยที่ ๑ ตรวจสอบควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอตามที่นำสืบ จำเลยที่ ๑ ก็น่าจะทราบว่าพันตำรวจตรีพยุงมิได้จัดทำบัญชีตามระเบียบของทางราชการเลยภายในเวลาไม่นานหลังจากเข้ามารับตำแหน่งในกองบัญชาการศึกษา ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการศึกษาในปี ๒๕๑๗ และเหตุทุจริตเกิดขึ้นในปี ๒๕๑๙ หลังจากที่จำเลยที่ ๑ เข้ามารับงานถึง ๒ ปี แสดงว่าในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบของพันตำรวจตรีพยุงมิได้ตรวจตราควบคุมให้พันตำรวจตรีพยุงปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จึงไม่พบข้อบกพร่องดังกล่าวเป็นเหตุให้พันตำรวจตรีพยุงถือโอกาสนำเงินของราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว นับเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้บังคับบัญชาเมื่อเกิดความเสียหายจากการกระทำของพันตำรวจตรีพยุง จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบร่วมกับพันตำรวจตรีพยุง ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปรากฏตามข้อนำสืบของโจทก์ทั้งพยานบุคคลและเอกสารรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้มอบหมายหน้าที่การงานให้รับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับการเงินที่พันตำรวจตรีพยุงปฏิบัติหน้าที่อยู่เมื่อไม่ตรวจตรา ควบคุมให้พันตำรวจตรีพยุงปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ ก็ต้องรับผิดร่วมกับพันตำรวจตรีพยุงด้วย
ปัญหาที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ หรือไม่นั้น ได้มีการทราบเรื่องพันตำรวจตรีพยุงยักยอกเงินในปี ๒๕๒๐ แต่ไม่ทราบว่ามีผู้อื่นจะต้องรับผิดชอบทางแพ่งร่วมกับพันตำรวจตรีพยุงหรือไม่จึงได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนหาตัว ผู้รับผิดชอบทางแพ่งเมื่อปี๒๕๒๒ คณะกรรมการดำเนินการเสร็จแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิด และเสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับชั้น ผลที่สุดผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ สั่งให้ฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ถือว่าโจทก์ได้ทราบตัวผู้ที่จะต้องร่วมรับผิดกับพันตำรวจตรีพยุงใช้เงินให้โจทก์ในวันดังกล่าว โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๕ ยังไม่เกิน ๑ ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน