คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ให้ตีความสัญญาไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิจารณาถึงปกติประเพณีด้วย และตามมาตรา 171 ในการตีความแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน เคยทำสัญญาซื้อขายและจัดสรรที่ดินมาแล้วหลายแห่ง มีความรู้ความชำนาญและสันทัดจัดเจนในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยิ่งกว่าจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่พนักงานของโจทก์จัดทำขึ้น โจทก์มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลย ย่อมมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมากกว่าจำเลย แล้วจากทำสัญญาจะซื้อจะยายที่ดินพิพาทแล้วโจทก์มีหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ขอกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในโครงการรวม 155,000,000 บาท โดยเป็นการขอกู้ยืมเงินเพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 43,000,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์จะต้องชำระค่าที่ดินพิพาท และบริษัทในเครือของโจทก์เคยมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าในทางปฏิบัติและตามปกติประเพณีของการซื้อที่มีราคาสูง หากผู้จะซื้อที่ดินจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระราคาที่ดินล่วงหน้า ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะต้องให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย ประเพณีเช่นว่ามีแม้ไม่ได้เขียนไว้ในสัญญาก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติโดยปริยาย จึงน่าเชื่อว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินในคดีนี้ด้วย แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจะไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม เมื่อโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่มีอาวัลของธนาคาร จำเลยย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินได้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้

Share