แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คู่ความอาจยกขึ้นอ้างได้ในชั้นฎีกา
จำเลยทำงานอยู่กับโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมให้จำเลยเป็นผู้ติดต่อและเก็บเงินจากลูกค้า จำเลยรับเช็คของลูกค้าโจทก์ร่วมมาในฐานะเป็นผู้รับชำระหนี้แทนโจทก์ร่วม มิใช่ในหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากฝ่ายลูกค้า จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คของโจทก์ร่วมในฐานะตัวแทน มีหน้าที่ต้องนำเช็คหรือเงินตามเช็คนั้นส่งให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารและเบียดบังเอาไว้โดยทุจริตโจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องจำเลยได้และการกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 353 เพราะจำเลยมิได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท ยู.เอส.ซัมมิท (โอเวอร์ซีส์) จำกัด ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯ ให้จัดการทรัพย์สินของบริษัทฯ โดยเป็นผู้ติดต่อทำการค้าเวชภัณฑ์และเก็บเงินกับโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศได้รับเงินตามบิลเลขที่ ๐๖๑๙๓ เอ.บี. – ๐๖๒๐๕ เอ.บี. และ ๑๕๐๗๒ – ๑๕๐๗๗ ซึ่งผู้แทนของบริษัทฯ ได้วางไว้กับทางโรงพยาบาล เพื่อตั้งเบิกรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๙,๙๐๐ บาท จากโรงพยาบาล โดยทางโรงพยาบาลได้ชำระเงินค่าเวชภัณฑ์เป็นเงินสดจำนวน ๒๕,๓๙๕ บาท และชำระเป็นเช็คของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาอยุธยา หมายเลข เค.๐๐๔๓๕๖๑ลงวันที่สั่งจ่าย ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๓ สั่งจ่ายเงินสดจำนวน ๒๔,๕๐๔ บาทให้แก่จำเลยและต่อมาจำเลยได้ให้นางทองสุข สาสนปัชโชติ ภริยาจำเลยเป็นผู้รับเงินตามเช็คดังกล่าวแทน ทั้งนี้จำเลยมีหน้าที่จะต้องนำเงินสดและเช็คดังกล่าวส่งแก่บริษัทฯ แต่จำเลยได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยเบียดบังเอาเงินสดและเช็คดังกล่าวเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๔๙,๙๐๐ บาทไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต หาได้นำส่งบริษัทฯ ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓ และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๔๙,๙๐๐ บาทแก่บริษัทฯ ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
บริษัท ยู.เอส.ซัมมิท (โอเวอร์ซีส์) จำกัด ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยได้รับเงิน ๒๕,๓๙๕ บาทจากโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ แต่เชื่อว่าจำเลยได้ยักยอกเงินที่จำเลยเบิกตามเช็คจำนวน ๒๔,๕๐๕ บาท ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องนำส่งโจทก์ร่วม พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ เดือน และให้จำเลยคืนเงิน ๒๔,๕๐๕ บาทแก่โจทก์ร่วมคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ในปัญหาข้อเท็จจริงความว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกเงินตามเช็คจำนวน ๒๔,๕๐๕ บาท และหากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คหรือเงินดังกล่าว ก็ต้องถือว่าเช็คหรือเงินนั้นเป็นของลูกค้าโจทก์ร่วมที่มอบให้จำเลยรับมา โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์หรือฟ้องคดี
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยยักยอกเงินตามเช็ค จำนวน ๒๔,๕๐๕ บาทไปจริงตามฟ้องและวินิจฉัยฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องไว้ว่า ปัญหาตามฎีกานี้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ามาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ และศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทำงานอยู่กับโจทก์ร่วมมีหน้าที่ติดต่อขายเวชภัณฑ์และเก็บเงินด้วยเช็คหมาย จ.๑ ที่จำเลยรับมาเป็นเช็คที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์ร่วม เพื่อชำระค่าเวชภัณฑ์ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าหนี้ จำเลยรับเช็คนั้นมาในฐานะเป็นผู้รับชำระหนี้แทนโจทก์ร่วมมิใช่ในหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังที่จำเลยฎีกาจำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คหมาย จ.๑ ของโจทก์ร่วมในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องนำเช็คหรือเงินตามเช็คนั้นส่งให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นตัวการจงสิ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑๐ เมื่อจำเลยนำเช็คนั้นไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์และมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ยังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะการที่จำเลยได้รับเช็คอันเป็นการรับชำระหนี้แทนโจทก์ร่วม และนำเช็คนั้นไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ จำเลยมิได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วม กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์