คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานผิดสัญญาไม่ขายที่ดินให้โจทก์ โดยคำนวณจากผลกำไรทั้งหมดซึ่งโจทก์คาดหมายว่าจะขายที่ดินได้ในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อจากจำเลยแต่ความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องนั้นเป็นเพียงความหวังของโจทก์โจทก์จะขายที่ดินได้ในราคานั้นหรือไม่ ไม่เป็นที่แน่นอนยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษแต่ที่ดินที่จะซื้อขายมีทางหลวงตัดผ่านไป พอคาดหมายได้ว่าต้องมีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลย ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร
แม้ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ไม่เหมาะสม จำเลยก็จะร้องมาในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษาศาลล่างโดยมิได้อุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่ แต่ศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงของศาลล่างด้วยหากเห็นเป็นการสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ แล้วกลับผิดสัญญานำไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนที่ดิน และบังคับให้โอนขายแก่โจทก์ตามสัญญา ถ้าไม่สามารถโอนได้ก็ให้จำเลยคืนมัดจำ ๕๐,๐๐๐ บาท ค่าเสียหาย ๓,๒๖๒,๕๐๐ บาทและเงินค่าทดแทนอีก ๓๖,๒๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ต่อสู้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่า ได้ซื้อที่ดินรายพิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินมัดจำ ๕๐,๐๐๐ บาท และชดใช้เบี้ยปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ ๑,๐๐๐ บาทแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินมัดจำ ๕๐,๐๐๐ บาท และเงินค่าปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๐๘ จำเลยที่ ๑ได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทโฉนดเลขที่ ๑๖๕๙ ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เนื้อที่ประมาณ ๒๘ ไร่ ๒ งาน ๘๘ วา ให้โจทก์เป็นเงิน๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท แต่เป็นที่ดินที่มีพระราชบัญญัติเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงสายกรุงเทพ – ตราด ผ่านที่ดินแปลงนี้ โจทก์ได้ชำระเงินในวันทำสัญญาแล้ว๕๐,๐๐๐ บาท อีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดชำระในเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๘ ในการรับเงินจำนวนนี้ จำเลยที่ ๑ จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ และจดทะเบียนบุริมสิทธิสำหรับเงินที่ค้างชำระ ซึ่งโจทก์จะต้องชำระภายใน ๖ เดือน นับแต่วันจดทะเบียนบุริมสิทธิตามเอกสารหมาย จ.๖ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ขอแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนทำถนนสายกรุงเทพ – ตราดออกคงเหลือเนื้อที่ตามโฉนดเดิม ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๖๖ วาอีกแปลงหนึ่งอยู่คนละฝั่งถนนเป็นโฉนดที่ ๓๘๑๕๙เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๓๔ วา ตามคำขอแบ่งแยกเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๘ แล้วจำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินทั้ง ๒ โฉนดนั้นให้แก่จำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๐๘ เป็นเงิน ๑,๐๘๗,๕๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๒๕ และรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นทางหลวงเป็นเงิน ๑๙๒,๕๐๐ บาทแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.๒๘
ปัญหาตามฎีกาข้อแรกมีว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดียังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ ๒ ได้ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ ๑ โดยไม่สุจริต และการซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒จะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติทางหลวงหรือไม่ เป็นเรื่องระหว่างกรมทางหลวงกับจำเลย หาใช่เป็นอำนาจหน้าที่ที่โจทก์จะยกขึ้นว่ากล่าวได้ไม่
ในเรื่องค่าเสียหาย โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ตกลงซื้อที่พิพาทราคาไร่ละ ๕๐,๐๐๐ บาท แต่จะขายได้อย่างต่ำไร่ละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นกำไรรวม ๓,๐๖๒,๕๐๐ บาท จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้กำไรทั้งหมดนี้ให้โจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๕ และเจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามมาตรา ๒๒๒ วรรค ๒ แต่คดีนี้ความเสียหายที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เรียกร้องมานั้น เป็นเพียงความหวังของโจทก์เท่านั้นโจทก์จะขายที่พิพาทได้ในราคานั้นหรือไม่ ไม่เป็นที่แน่นอน ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่ก็พอคาดหมายได้ว่า ที่พิพาทซึ่งมีทางหลวงตัดผ่านไปแล้วนั้น ต้องมีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลย ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลได้กำหนดค่าปรับจำเลย ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นจำนวนถึง ๔ เท่าของเงินที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยเพียง ๕๐,๐๐๐ บาท กับต้องคืนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทที่โจทก์วางไว้ด้วย เป็นการพอสมควรแก่ความรับผิดของจำเลยแล้ว
ส่วนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนสร้างทางหลวงที่จำเลยที่ ๑ รับมาโจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบให้โจทก์ด้วย เป็นเงิน ๓๖,๒๕๐ บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อไม่มีการโอนขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ การหักค่าทดแทนที่ดินกับราคาที่พิพาทที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยที่ ๑ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ชอบด้วยทางพิจารณาแล้ว
ข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ ๓,๒๖๒,๕๐๐ บาทที่โจทก์เรียกร้อง ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเต็ม ๕๐,๐๐๐ บาทนั้น จำเลยกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดไม่ถูกต้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเช่นนี้จำเลยจะร้องมาในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษาศาลล่าง โดยมิได้อุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวลาศาลฎีกาพิพากษาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงของศาลล่างด้วย ฉะนั้นศาลฎีกาจึงเห็นสมควรที่จะพิเคราะห์โดยอาศัยอำนาจนี้ ซึ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมยังไม่เป็นการเหมาะสมเพราะโจทก์ชนะคดี จำนวนทุนทรัพย์เพียง ๒๕๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้เท่านั้น ไม่เต็มตามฟ้อง และเมื่อคำนึงถึงข้อเรียกร้องของโจทก์ในมูลฐานแห่งคดีนี้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าที่ชนะคดี
พิพากษายืน แต่ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ ๑ ใช้แทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี

Share