แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอยู่ในฐานะคู่ความซึ่งมีอำนาจยื่นคำฟ้องได้จึงชอบที่จะเรียงหรือแต่งคำฟ้อง รวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย หาจำต้องมอบอำนาจให้ทนายความเรียงหรือแต่งคำฟ้องให้อีกต่อหนึ่งไม่ ฉะนั้น คำฟ้องของโจทก์ซึ่งผู้รับมอบอำนาจลงชื่อเป็น ผู้เรียงจึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 27/2516)
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นายโต ผลส่ง ฟ้องคดีแทนโจทก์ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่อยมาจนกระทั่งสืบพยานโจทก์จำเลยเกือบเสร็จสิ้นคงเหลือแต่เพียงพยานของจำเลยที่ ๔อีกปากเดียว ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ ๔ ศาลชั้นต้นสอบถามแล้วนายโต ผลส่ง แถลงว่าไม่ได้เป็นทนายความ ศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อนายโต ผลส่ง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ไม่ได้เป็นทนายความ แต่เรียงคำฟ้องด้วยตนเอง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติทนายความ มาตรา ๓๖และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม และมีคำสั่งใหม่ไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ต่อไป
จำเลยที่ ๔ ฎีกา
ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ซึ่งนายโตผู้รับมอบอำนาจลงชื่อเป็นผู้เรียงนั้นเป็นฟ้องที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นพึงเห็นได้ว่าฐานะในคดีระหว่างตัวความคือโจทก์กับนายโตผู้รับมอบอำนาจ มีนิติสัมพันธ์ต่อกันฉันตัวการตัวแทน โดยนายโตเป็นตัวแทนซึ่งได้รับมอบอำนาจเฉพาะการ คือ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ต่อศาล ตัวแทนเช่นนี้มีหน้าที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๐ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐๑การยื่นฟ้องนั้นตัวการเรียงหรือแต่งคำฟ้องไปยื่นต่อศาลได้ฉันใดตัวแทนก็มีสิทธิกระทำได้เท่าเทียมกับฉันนั้นมิฉะนั้นแล้วการมอบหมายย่อมจะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ มีบทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่า “คู่ความ”หมายความว่าบุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณา ให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจคดีนี้จึงอยู่ในฐานะคู่ความซึ่งมีอำนาจยื่นคำฟ้องได้ จึงชอบที่จะเรียงหรือแต่งคำฟ้อง รวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วยซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ วรรคแรกก็บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้รับมอบอำนาจเช่นนั้นได้ ประกอบทั้งเมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๓๖ วรรค ๒ซึ่งบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า การเรียงหรือแต่งฟ้องนั้นไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น แม้นายโตผู้รับมอบอำนาจจะมิใช่เป็นทนายความ กรณีเช่นนี้ก็ปรับเข้าตามข้อยกเว้นดังกล่าว คือ เรียงหรือแต่งคำฟ้องแทนโจทก์ได้เอง หาจำต้องไปมอบอำนาจให้ทนายความเรียงหรือแต่งคำฟ้องให้อีกต่อหนึ่งไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องว่าความอย่างทนายความ ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ วรรค ๒บัญญัติห้ามไว้ ฉะนั้น คำฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาหาได้ไม่
พิพากษายืน