คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5713/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“นายจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 แยกออกได้เป็น 2 จำพวก คือนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลสำหรับนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา นอกจากจะเป็นผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้แล้ว ยังหมายความรวมไปถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างด้วยและลูกจ้างที่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างรับเข้าทำงานตามอำนาจที่นายจ้างมอบหมาย ย่อมเป็นลูกจ้างของนายจ้างผู้มอบหมายด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับซื้อเศษกระดาษจากบริษัทยูเนียนเปเปอร์ คาร์ตอนส์ จำกัด แล้วจ้างเหมาให้นายนึก อิ่มแดง อัดเศษกระดาษ นายนึกจะจ้างใครช่วยทำงานโจทก์ไม่เกี่ยวข้องจึงเป็นการจ้างทำของ เมื่อนายสมรมาช่วยอัดเศษกระดาษนายสมรจึงไม่ใช่ลูกจ้างของโจทก์ ดังนั้นการที่นายสมรถูกปลายลวดตวัดถูกตาซ้ายได้รับบาดเจ็บ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่นายสมรตามที่พนักงานเงินทดแทนพิจารณา ขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมแรงงานที่ ๑๕/๒๕๓๑ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๑
จำเลยให้การว่า โจทก์มอบหมายให้นายนึกควบคุมรับผิดชอบกิจการของโจทก์ รวมทั้งการรับลูกจ้างและการจ่ายค่าจ้างนายนึกรับนายสมรเข้าทำงานเมื่อนายสมรได้รับบาดเจ็บจากการทำงานให้นายจ้าง โจทก์จึงต้องจ่ายเงินทดแทนให้นายสมรตามคำสั่งอธิบดีกรมแรงงานที่ ๑๕/๒๕๓๑ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ ให้คำนิยามคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นและหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการ แทนนิติบุคคล ดังนั้น นายจ้างตามข้อ ๒ นี้จึงแยกออกได้เป็น ๒ จำพวกด้วยกัน คือ นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา และนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำหรับนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา นอกจากจะเป็นผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้แล้ว ตามข้อ ๒ นี้ยังให้หมายความรวมไปถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างด้วย หาใช่ว่าผู้ทำงานแทนนายจ้างมีได้เฉพาะนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้นดังอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ นายนึกจึงเป็นผู้ทำการแทนโจทก์ได้ และผู้ที่นายนึกรับเข้าทำงานตามอำนาจที่นายจ้างมอบหมายให้ย่อมเป็นลูกจ้างของโจทก์ด้วย
พิพากษายืน

Share