คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือสำคัญเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งทางราชการออกให้มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองต่อมาจำเลยที่ 2นำที่ดินพิพาทไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินโดยอ้างว่าซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาขายฝากโจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้ขายให้โจทก์ก่อนแล้วตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังนี้ แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท กันก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ก็ตามฐานะของโจทก์ก็มีเพียงขอให้ เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบเท่านั้น แต่ในการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ได้เสียค่าตอบแทนชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่รู้หรือควรได้รู้ว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาท จากจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียน ขายฝากรับโอนที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทน และกระทำการโดยสุจริตแล้วโจทก์ย่อมไม่อาจที่ จะเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2515 โจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 4 หน้า 83สารบบเลขที่ 413/146 หมู่ที่ 4 ตำบลขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 3 ไร่ 5 ตารางวา จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลา 20 ปีเศษแล้ว แต่จำเลยที่ 1 กลับนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายฝากให้จำเลยที่ 2 กำหนดเวลา 1 ปีโดยสมรู้ร่วมคิดกันโกงโจทก์ โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินเมื่อปี 2534 โจทก์จึงยื่นคำคัดค้านไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เล่ม 4 หน้า 83 สารบบเลขที่ 413/146 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและได้เงินค่าตอบแทนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือสำคัญเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 413/146 ตำบลขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางราชการออกให้มีชื่อจำเลยที่ 1เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2514 ตามเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาปี 2535 จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา โดยอ้างว่าได้มาจากการซื้อขายจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2515 ตามหนังสือสัญญาขายฝากเอกสารหมาย ล.2 แต่โจทก์ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามคำขอคัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.5 โดยนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2515 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารที่ทำขึ้นก่อนเอกสารหมาย ล.2 แม้จะรับฟังได้ว่ามีการทำสัญญาขายฝากกันจริง จำเลยที่ 1 ผู้ขายฝากไม่ใช่เจ้าของสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทที่นำไปขายฝากหนังสือสัญญาขายฝากเอกสารหมาย ล.2 จึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับโจทก์ไม่ได้ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงหนังสือสัญญาจะซื้อขายเท่านั้น แม้จะให้รับฟังว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2515 ตามเอกสารหมาย จ.1 กันจริง และเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2515 ตามเอกสารหมาย ล.2 ดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม ฐานะของโจทก์ก็มีเพียงขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ที่ทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบเท่านั้น เมื่อการที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้เสียค่าตอบแทนชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้รู้หรือควรจะรู้ว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว โจทก์เองกลับเบิกความว่าไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน และโจทก์คงนำสืบแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบและสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามจำเลยที่ 1 ตลอดมาเท่านั้น ซึ่งหากโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นโจทก์ก็ดี จำเลยที่ 1 ก็ดีนายสำราญ สังข์สุขสามีโจทก์ก็ดี และนายนอ แป่มสูงเนินบิดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ดี ต่างก็อยู่ในพื้นที่ เมื่อก่อนจะมีการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองนั้นตามคำเบิกความของนายสมพงษ์ พิทยานุรักษ์ และนายศุภชัย อินอ่อน พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินได้เบิกความต้องกันถึงระเบียบปฏิบัติว่า จะต้องปิดประกาศการขายฝากที่ดินพิพาทไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ ที่บ้านกำนันท้องที่และในที่ดินพิพาทเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้คัดค้านภายใน 30 วัน เสียก่อนหากไม่มีผู้คัดค้านจึงจดทะเบียนขายฝากให้ได้ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดรวมทั้งโจทก์ด้วยได้ไปคัดค้านการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเลย ยิ่งพิจารณาคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.7 ที่ว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่เดิมโดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาอย่างไรนั้นเป็นพิรุธอย่างยิ่ง เพราะที่ดินพิพาทนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 146ของนายนอ แป่มสูงเนิน บิดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งแบ่งแยกให้จำเลยที่ 1 พร้อมกับแบ่งแยกให้โจทก์และบุคคลอื่นอีกตามคำขอแบ่งให้ที่ดินลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2514 เอกสารหมาย ล.1ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของจำเลยที่ 1ที่เดิมใช้ชื่อว่านางหมาหลูบ แป่มสูงเนิน ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย จ.7 นั้น เมื่อพิจารณาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.6 แล้ว กลับได้ความว่าที่ดินพิพาทเพิ่งถูกแยกออกมาจากที่ดินแปลงเดิมทะเบียนเล่ม 4หน้า 30 สารบบเลขที่ 146 เป็นชื่อนางนิภา ฤทธิ์วัฒน์คือจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2514 ดังนั้น หากจำเลยที่ 1จะเสียภาษีบำรุงท้องที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ย่อมทำในนามนางนิภา ฤทธิ์วัฒน์ ที่เป็นชื่ออยู่ในสารบบตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.6 การที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1ในนามนางหมาหลูบ แป่มสูงเนิน เพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1ได้สละและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วนั้นไม่มีน้ำหนักจะให้รับฟัง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนขายฝากรับโอนที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทน และกระทำการโดยสุจริตแล้ว แม้จะให้รับฟังว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 ไว้ก่อนดังเช่นที่โจทก์ฎีกา โจทก์ก็ไม่อาจที่จะเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้”
พิพากษายืน

Share