แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่1แต่ได้พ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วได้เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท)กับธนาคารโจทก์ ในนามของห้างจำเลยที่ 1 และประทับตราชื่อห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำแทนห้างจำเลยที่ 1 มิใช่กระทำเป็นส่วนตัวและห้าง ห้างจำเลยที่ 1 ก็ทราบดีถึงกิจการที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำ และยอมรับเอาเป็นกิจการที่ทำแทนห้างจำเลยที่ 1 ดังนี้ ถือได้ว่าห้างจำเลยที่ 1 ได้เชิดหรือรู้อยู่แล้วยอมให้จำเลยที่ 3 แสดงออกเป็นตัวแทนของตน มีอำนาจกระทำกิจการดังกล่าวแทนห้าง ห้างจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อธนาคารโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า แม้จำเลยที่ 3 จะพ้นจากหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แต่ก็คงกระทำแทนห้างจำเลยที่ 1 และเพื่อประโยชน์ของห้างจำเลยที่ 1 ตลอดมา เท่ากับโจทก์ตั้งประเด็นไว้ว่า ห้างจำเลยที่ 1เชิดหรือรู้อยู่แล้วยอมให้จำเลยที่ 3 แสดงออกเป็นตัวแทนของห้างจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าห้างจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล เดิมมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นหุ้นส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมถอนจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนและพ้นจากการเป็นผู้จัดการ และจดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ธนาคารโจทก์อยู่หลายยอดหลายจำนวน โดยเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 6910 รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2511 อยู่เป็นจำนวนเงิน 232,688.78 บาท เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 8784 รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2511 เป็นเงิน 754,493.90 บาท เป็นลูกหนี้ธนาคารโจทก์จากการเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตคิดเป็นจำนวนหนี้รวมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2511 เป็นเงิน 119,741.94 บาท และเป็นหนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสตรีซีท) อีก 5 ราย คิดจำนวนหนี้รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2511รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 574,076.20 บาท รวมหนี้ทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดคิดถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2511 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,681,000.82 บาทเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510 จำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท โดยจำเลยที่ 5 ยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่ธนาคารโจทก์ต้องเสียไปในการเรียกร้องทวงถามด้วย และในวันเดียวกันนี้เอง จำเลยที่ 5 ได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมีโฉนด 1 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับธนาคารโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารโจทก์ โดยจำเลยที่ 5 ยอมรับผิดในยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 เบิกไปจากธนาคาร เกินกว่ายอดเงินในบัญชีในขณะนั้นหรือจะเป็นหนี้ต่อไปในภายหน้ากับค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองกับให้มีผลผูกพันหนี้สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ต่อธนาคารโจทก์อีกด้วย หากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ ยอมรับผิดจนครบหนี้ของจำเลยที่ 1 ครบกำหนดชำระนานแล้ว จำเลยทั้งห้าผิดนัดผิดสัญญา โจทก์จึงได้ทวงถามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และแจ้งบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 แล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ไถ่จำนองกับธนาคารโจทก์เป็นเงิน 1,681,000.82 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีทบต้นเป็นรายเดือนในต้นเงินจำนวน987,182.68 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 693,818.14 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ไถ่จำนองเสร็จ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด หากไม่พอก็ให้ยึดทรัพย์อื่น ๆ ของจำเลยมาชำระหนี้จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีหลายประการ ส่วนจำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้และจำนองที่ดินเป็นประกันจำเลยที่ 1 จะได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 8784 เท่านั้น หนี้อื่น ๆ นอกจากนี้จำเลยไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันหรือจำนองเป็นประกัน จำเลยเพิ่งทราบเมื่อถูกฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 หาได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ แต่ผู้กู้เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้เป็นหุ้นส่วนและผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหรือมอบหมายใด ๆ ให้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 เหตุที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหรือจำนองที่ดินเป็นประกันเพราะสำคัญผิดว่าจำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 8784 และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 กับโจทก์สมคบกันปกปิดความจริงหลอกลวงจำเลยโดยเจตนาไม่สุจริต หลักฐานหนังสือสัญญาที่จำเลยที่ 1 กระทำกับโจทก์จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์จึงไม่อาจมีขึ้นได้ตามกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิด หากจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญา ก็มีกำหนดระยะเวลาค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2510 เท่านั้น หนี้ที่เกิดนอกเหนือระยะเวลาดังกล่าว จำเลยหาต้องรับผิดไม่ ฟ้องบรรยายมาคลุม ๆ ไม่ส่งสำเนาเช็คที่โจทก์อ้างตลอดจนเอกสารอื่น ๆ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 คงเหลือที่ต้องพิจารณาต่อมาเฉพาะจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 709,532.16 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีทบต้นจากวันที่16 มีนาคม 2511 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2511 ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีในจำนวนเงินหลังวันที่ 28 เมษายน 2511 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ใช้เงินตามสัญญาเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตจำนวนเงิน 119,741.94บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีจากวันฟ้อง เงินตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อจำนวน 574,076.20 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีจากวันฟ้องเป็นต้นไปไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 5 รับผิดใช้เงินแก่โจทก์1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ตามสัญญาจำนองจากวันที่ 28 เมษายน 2511 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระจนครบ
จำเลยที่ 5 ฎีกาต่อมา
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 มีว่า การที่จำเลยที่ 3 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 8784 และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) ก่อให้เกิดหนี้ตามฟ้องนั้น จำเลยที่ 3 ได้ทำไปหลังจากที่จำเลยที่ 3 พ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แล้วจะผูกพันห้างจำเลยที่ 1 หรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว แม้เมื่อจำเลยที่ 3 ก่อหนี้ขึ้นในระหว่างเวลาที่มิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์คำขอเปิดบัญชีเลขที่ 8784 เอกสาร จ.8 ปรากฏว่าขอเปิดในนามห้างจำเลยที่ 1 และประทับตราชื่อห้างจำเลยที่ 1 สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เอกสารหมาย จ.9 ลงชื่อห้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และประทับตราชื่อห้างจำเลยที่ 1 หนังสือขอเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.10 ลงชื่อห้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอเปิดและประทับตราชื่อห้างจำเลยที่ 1 หนังสือรับมอบสินค้าเชื่อ(ทรัสต์รีซีท)เอกสารหมาย จ.13, จ.14, จ.15, จ.16 และ จ.17 ลงชื่อห้างจำเลยที่ 1 และประทับตราชื่อห้างจำเลยที่ 1 ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำแทนห้างจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น มิใช่จำเลยที่ 3 ทำเป็นส่วนตัว เมื่อพิเคราะห์ต่อไปว่า หลังจากที่จำเลยที่ 3 ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 8784 ห้างจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเบิกเงินจากธนาคารโจทก์เพื่อประโยชน์ของห้างจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดมา มิได้ทักท้วงหรือปฏิเสธไม่ยอมรับการทำแทนของจำเลยที่ 3 ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารว่า ธนาคารโจทก์ได้แจ้งยอดหนี้ให้ห้างจำเลยที่ 1 ทราบทุกสิ้นเดือน โดยนายกมลชัย แก้วอำไพ พยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ของธนาคารโจทก์เป็นผู้ส่งหนังสือแจ้งให้ทราบและเจ้าหน้าที่ห้างจำเลยที่ 1 รับไว้แล้วตามเอกสารหมาย จ.103 ถึง จ.119 แสดงอย่างชัดแจ้งว่าห้างจำเลยที่ 1 ทราบดีว่ากิจการที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับธนาคารโจทก์นั้น ห้างจำเลยที่ 1 ยอมรับเอาว่าเป็นกิจการที่ทำแทนห้างจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อปี พ.ศ. 2505 ห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 6910 กับธนาคารโจทก์มาแล้ว และได้ทำการเบิกจ่ายเงินจากธนาคารโจทก์ตลอดมา เมื่อมีการเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการธนาคารโจทก์มิได้รับทราบจากห้างจำเลยที่ 1 ธนาคารโจทก์คงถือปฏิบัติตามเดิมโดยเข้าใจโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 3 ยังคงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 อยู่อย่างเดิม ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังวินิจฉัยมาฟังได้ว่า ห้างจำเลยที่ 1 ได้เชิดหรือรู้อยู่แล้ว ยอมให้จำเลยที่ 3 แสดงออกเป็นตัวแทนของตน มีอำนาจกระทำกิจการดังกล่าวแทนห้างจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821
ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า คดีไม่มีประเด็นเรื่องตัวแทนเชิด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า แม้จำเลยที่ 3 จะพ้นจากหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แต่ก็คงกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 และเพื่อประโยชน์ของห้างจำเลยที่ 1 ตลอดมา เท่ากับโจทก์ตั้งประเด็นไว้ว่าห้างจำเลยที่ 1 เชิดหรือรู้อยู่แล้วยอมให้จำเลยที่ 3 แสดงออกเป็นตัวแทนของห้างจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าห้างจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
พิพากษายืน