แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้แทนโจทก์ในคดียื่นสำเนาหนังสือมอบอำนาจต่อศาลในขณะยื่นฟ้องและในวันนัดพิจารณา โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต่อศาลซึ่งจำเลยได้แถลงรับว่าถูกต้องเป็นความจริง และรับว่าผู้รับมอบได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจช่วงได้จริงดังนี้ เป็นการปฏิบัติชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
การแปลงหนี้ใหม่ย่อมทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไป ส่วนประกันของหนี้เดิมอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้เช่นจำนอง ถ้าคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่มิได้ตกลงเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมระงับไปด้วยเช่นเดียวกัน
มาตรา 352 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เท่านั้น การโอนสิทธิจำนองของจำเลยเป็นประกันหนี้ที่แปลงใหม่ จึงทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่ก็ใช้ได้ โดยไม่จำต้องจดทะเบียนจำนองซ้ำอีกอย่างจำนองธรรมดาที่เป็นหลักทั่วไป
หนี้เดิมเป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีเดินสะพัด ซึ่งคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ เมื่อหนี้เดิมระงับไปเพราะการแปลงหนี้ใหม่ การคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนก็ต้องระงับไปตั้งแต่วันทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายจำรัส จตุภัทร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้แต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจช่วงได้ด้วยได้ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้นายขาว หงษ์ทอง มีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องได้ เดิมจำเลยจำนองที่ดินตามโฉนดตราจองที่ ๙๔๐ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของนายอรรณพ กฤตยาเกียรณ์ เป็นเงินไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีทบต้นตามประเพณีของธนาคาร ถ้าบังคับจำนองได้เงินไม่พอ จำเลยยอมชดใช้เงินที่ขาดจนครบ นายอรรณพค้างชำระหนี้เพียงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๐ เป็นเงิน ๒๓๔,๑๘๖.๐๖ บาท วันที่ ๑๕ กรกฎาคม๒๕๑๐ จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ชำระหนี้แทนนายอรรณพให้แก่โจทก์ต่อไปจนสิ้นเชิง โดยจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปีโดยวิธีทบต้นเป็นรายเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน ๕ ปี นับแต่วันทำสัญญารับสภาพหนี้ โดยผ่อนชำระเป็นรายปีภายในเดือนธันวาคมของทุกปีปีละไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท และจำเลยยินยอมรับว่าที่จำเลยได้จำนองที่ดินดังกล่าวให้มีผลผูกพันหนังสือรับสภาพหนี้นี้ด้วย ถ้าผิดนัดยินยอมให้ฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยผู้เดียว จำเลยได้ชำระหนี้ตามที่รับสภาพหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๑ เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทและชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๑๒ เป็นเงิน ๘๙.๐๐ บาทแล้วไม่ชำระอีก โจทก์ทวงถามแจ้งการบังคับจำนองแล้ว จึงขอให้จำเลยชำระหนี้ไถ่จำนอง ๒๘๐,๘๐๗.๕๒ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปีทบต้นนับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด และถ้ายังไม่ชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดชำระหนี้
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ส่งต่อศาลจำเลยแถลงรับว่า นายจำรัส จตุรภัตร ได้รับมอบอำนาจจากธนาคารโจทก์จริงหนังสือมอบอำนาจช่วงถูกต้อง และนายจำรัสมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้นายขาวหงษ์ทอง ได้จริง แต่โต้แย้งว่าโจทก์เพียงแต่ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงต่อศาลไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องคงต่อสู้ข้อกฎหมายตามคำให้การของจำเลย คดีจึงมีประเด็นว่า ๑. โจทก์เพียงแต่ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจในวันยื่นฟ้อง จะชอบด้วยวิธีพิจารณาและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ๒. สัญญาจำนองมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่คู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประเด็นข้อ ๑ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ประเด็นข้อ ๒หนังสือรับสภาพหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ โดยจำเลยเป็นลูกหนี้ตามจำนวนที่นายอรรณพค้างต่อโจทก์ และจำเลยต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองตามที่จำเลยรับรองไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งสัญญาจำนองยังมีผลใช้บังคับได้พิพากษาให้จำเลยไถ่จำนองเป็นเงิน ๒๘๐,๘๐๗.๕๒ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปีทบต้นเป็นรายเดือนจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองประเด็น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง สัญญารับสภาพหนี้ของจำเลยเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำนองเดิมที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้เป็นประกันหนี้ใหม่ก็มีผลใช้บังคับได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนกันใหม่ แต่ใช้ประกันหนี้เพียงเท่าที่เป็นวัตถุแห่งหนี้เดิมเท่านั้น คือ ๑๕๐,๐๐๐ บาทและอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ทบต้น โจทก์มีสิทธิคิดได้จนถึงวันจำเลยผิดนัด หลังจากนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๒๔ และศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม๒๕๑๒ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วไม่ชำระ พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ ๒๔๔,๘๗๘.๔๒ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปีทบต้นเป็นรายเดือนตั้งแต่วันที่ ๒๙พฤษภาคม ๒๕๑๒ จนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๒ หลังจากนั้นเสียดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยชำระหนี้ ๑๕๐,๐๐๐ บาทแล้วให้ถือเป็นการไถ่จำนอง ถ้าจำเลยไม่ไถ่ให้เอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองจนครบ
จำเลยฎีกาทั้งสองประเด็น
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาประเด็นแรกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่มีบทใดบังคับว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้ผู้ใดเป็นผู้แทนโจทก์ในคดีจะยื่นสำเนาหนังสือมอบอำนาจต่อศาลในขณะยื่นฟ้องไม่ได้ และจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังจำเลยฎีกา และในวันนัดพิจารณา โจทก์ได้ส่งหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต่อศาล (จ.๒) ซึ่งจำเลยได้แถลงรับว่าถูกต้องเป็นความจริง และรับว่านายจำรัสได้รับมอบอำนาจจากโจทก์จริง และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้นายขาวได้จริง ซึ่งเป็นการปฏิบัติชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ ประกอบมาตรา ๖๖แล้ว โจทก์โดยนายขาว หงษ์ทอง ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
สำหรับประเด็นที่สอง ศาลฎีกาเห็นว่าโดยปกติของการแปลงหนี้ใหม่ย่อมทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๔๙ ส่วนประกันของหนี้เดิมอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้เช่นจำนองอย่างคดีนี้ ถ้าคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่มิได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นก็ย่อมระงับไปด้วยเช่นเดียวกัน ตามผลของมาตรา ๓๔๙ โดยไม่จำต้องอาศัยมาตรา ๗๔๔ แต่ถ้าคู่กรณีตกลงกันไว้ในเรื่องประกันของหนี้เดิมจะต้องบังคับตามมาตรา ๓๕๒ โดยตรงซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะในกรณีแปลงหนี้ใหม่ว่า”คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำหรือจำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้น ไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายนอกนั้นด้วยจึงโอนได้”
ดังนี้ คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่คดีนี้คือโจทก์และจำเลย ซึ่งปรากฏตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ (หรือสัญญาแปลงหนี้ใหม่รายนี้) ตามสัญญาข้อ ๓ชัดเจนว่า ให้ถือว่าจำเลยในฐานะผู้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจำนอง และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ฉบับลงวันที่ ๖ มิถุนายน๒๕๐๖ ที่ได้จำนองค้ำประกันหนี้ของนายอรรณพไว้ มีผลผูกพันตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้ด้วย และตามสัญญาข้อ ๔ จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้หนังสือฉบับนี้เป็นหลักฐานในการฟ้องบังคับจำนองกับจำเลยแต่ผู้เดียวได้ทันทีฉะนั้น จำเลยจะอ้างว่า สัญญาจำนองของจำเลยไม่มีผลผูกพันจำเลยไม่ได้หรือจะอ้างว่าสัญญาจำนองของจำเลยระงับไปตามมาตรา ๗๔๔ ก็ไม่ได้ดุจกันเพราะข้อตกลงตามสัญญาข้อ ๓ ดังกล่าว เป็นเรื่องที่จำเลยยอมโอนสิทธิจำนองของจำเลยที่ค้ำประกันหนี้เดิมของนายอรรณพมาเป็นประกันหนี้ที่แปลงใหม่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ตามมาตรา ๓๕๒ โดยตรง ซึ่งเป็นการโอนโดยข้อตกลงของคู่กรณีที่แปลงหนี้ใหม่ และมาตรา ๓๕๒ มิได้บังคับไว้เลยว่าคู่กรณีต้องจดทะเบียนจำนองที่โอนไปแล้วนั้นด้วย ก็เพราะเหตุว่าคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่คือโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนจำนองต่อกันมาแล้วนั่นเอง ก่อนมีการแปลงหนี้ใหม่ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องจดทะเบียนจำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่งทั้งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อย่างกรณีของจำเลยนี้ มาตรา ๓๕๐บัญญัติว่า จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่เท่านั้นก็ใช้ได้ฉะนั้น การโอนสิทธิจำนองของจำเลยเป็นประกันหนี้ที่แปลงใหม่ ตามมาตรา ๓๕๒ จึงทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยก็ใช้ได้เช่นเดียวกันโดยไม่จำต้องจดทะเบียนจำนองซ้ำอีกอย่างจำนองธรรมดาที่เป็นหลักทั่วไปและมาตรา ๓๕๒ ก็มิได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เท่านั้นดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้
ตามฟ้องและตามสัญญารับสภาพหนี้ข้อ ๑ ข้อ ๒ นายอรรณพลูกหนี้เดิมของโจทก์ค้างชำระหนี้โจทก์ (ซึ่งรวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้น)เป็นเงิน ๒๓๔,๑๘๖.๐๖ บาท และนายอรรณพไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเลยจึงตกลงเข้ารับชำระหนี้จำนวนนี้แทน เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ฉะนั้นสัญญากู้เงินเบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับนายอรรณพจึงระงับไปตั้งแต่วันนั้นแล้ว ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิจะคิดดอกเบี้ยทบต้นจากนายอรรณพหรือจากจำเลยผู้รับชำระหนี้แทนนายอรรณพได้อีกต่อไป เพราะจำเลยมิได้เบิกเงินเกินบัญชีหรือมีบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารโจทก์ จำเลยเป็นแต่เพียงลูกหนี้คนใหม่ ในการแปลงหนี้ใหม่กับโจทก์ ซึ่งไม่ใช่ประเพณีการค้าขายอย่างบัญชีเดินสะพัดหรือในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเดียวกับบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๕ วรรค ๒ ฉะนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี นับแต่วันทำสัญญารับสภาพหนี้ตลอดมาตามฟ้องและตามสัญญารับสภาพหนี้ข้อ ๒ จึงต้องห้ามตามกฎหมายโจทก์มีเพียงสิทธิจะคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปีในจำนวนหนี้เงิน ๒๓๔,๑๘๖.๐๖บาท ที่จำเลยรับชำระหนี้แทนนายอรรณพตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดเท่านั้นโดยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่วันที่๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๒ ซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้ง และปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ๒ ครั้ง รวมเป็นเงิน ๕๐,๐๘๙ บาท ซึ่งต้องหักออกจากจำนวนหนี้เงิน ๒๓๔,๑๘๖.๐๖ บาท เสียก่อน คงเหลือเงินที่จำเลยต้องรับผิดใช้ให้โจทก์๑๘๔,๐๙๗.๐๖ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี ตามข้อตกลงในต้นเงินนี้ตั้งแต่วันที่๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๒ เป็นต้นไป โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้โจทก์
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์๑๘๔,๐๙๗.๐๖ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม๒๕๑๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นโดยไม่ทบต้นดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์