คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามหนังสือสัญญากู้เงินลงวันที่ 31 ตุลาคม 2527 จนถึงวันฟ้องคือวันที่27 ตุลาคม 2538 รวมเป็นเวลา 10 ปี 11 เดือน กับ 21 วันถือได้ว่เกินกว่า 10 ปี จึงขาดอายุความตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ระบุว่าจะชำระเงินต้นคืนในวันที่ 31 ตุลาคม 2528 แม้จำเลยจะผิดนัดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่งวดแรกซึ่งโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินต้นคืนได้ตามสัญญาข้อ 6 แต่สัญญาดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนด มีผลให้ผู้กู้สามารถใช้สิทธิทวงถามให้ผู้กู้ชำระเงินได้ก่อนกำหนดในสัญญาเท่านั้น เมื่อผู้กู้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงิน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเดือนแรกคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527ตามสัญญากู้เงินข้อ 4 โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินคืนนับแต่วันดังกล่าวตามสัญญากู้เงินข้อ 6 อายุความฟ้องเรียกต้นเงินคืนจึงนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 27 ตุลาคม 2538 จึงเกิน 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 นั้น ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นแล้วว่า วันเริ่มต้นที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นั้นควรเริ่มนับแต่วันใด เพราะเหตุใดข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาเพื่อให้ศาลได้หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นมาปรับบทกฎหมายว่า วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เริ่มนับแต่เมื่อใด และคดีโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ อย่างไร มิได้เป็นการกล่าวอ้างกำหนดอายุความขึ้นมาใหม่ ดังนี้ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1จึงเป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและไม่นอกคำให้การ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 49,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2528 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่นำต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยชำระให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันถึงกำหนดชำระถึงวันฟ้องเพียง 5 ปี เป็นเงิน 18,375 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 67,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงิน 49,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะนับจากวันทำสัญญากู้วันที่ 31 ตุลาคม 2527 ถึงวันฟ้องวันที่ 27 ตุลาคม 2538รวมเป็นเวลา 10 ปี 11 เดือน กับอีก 27 วัน ซึ่งเป็นเวลาเกิน10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 49,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2528จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน18,375 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นปัญหานอกเหนือจากคำให้การเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จึงไม่รับวินิจฉัยชอบหรือไม่จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามหนังสือสัญญากู้เงินลงวันที่ 31 ตุลาคม 2527 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 27 ตุลาคม 2538รวมเป็นเวลา 10 ปี 11 เดือน กับ 21 วัน ถือได้ว่าเกินกว่า10 ปี จึงขาดอายุความตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ระบุว่าจะชำระเงินต้นคืนในวันที่31 ตุลาคม 2528 แม้จำเลยจะผิดนัดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่งวดแรกซึ่งโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินต้นคืนได้ตามสัญญาข้อ 6 แต่สัญญาดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนการที่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนด มีผลให้ผู้กู้สามารถใช้สิทธิทวงถามให้ผู้กู้ชำระเงินได้ก่อนกำหนดในสัญญาเท่านั้นเมื่อผู้กู้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงิน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับแต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเดือนแรกคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527ตามสัญญากู้เงินข้อ 4 โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินคืนนับแต่วันดังกล่าวตามสัญญากู้เงินข้อ 6 อายุความฟ้องเรียกต้นเงินคืนจึงนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่27 ตุลาคม 2538 จึงเกิน 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12ประกอบมาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่าวันเริ่มต้นที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นั้นควรเริ่มนับแต่วันใด เพราะเหตุใดข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาเพื่อให้ศาลได้หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นมาปรับบทกฎหมายว่าวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เริ่มนับแต่เมื่อใดและคดีโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1แล้วหรือไม่ อย่างไร มิได้เป็นการกล่าวอ้างกำหนดอายุความขึ้นมาใหม่ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและไม่นอกคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่รับวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share