คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บุตรบุญธรรมก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่มิได้ จดทะเบียนตามบรรพ 5 มิได้มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาว่านายเป้า นางปิเอาโจทก์มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ออกใช้บังคับ แม้ไม่ได้จดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 โจทก์ก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของนายเป้า นางปิ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บุตรบุญธรรมที่จะมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เท่านั้น และมิได้รวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ด้วย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายเป้า นางปิมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แต่มิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเป้า นางปิ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 507/2519 คดีระหว่างนายพิชัย แก้วประดิษฐ์ โจทก์ นางจำปาสิกขา จำเลย เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเป้า นางปิ โจทก์จึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของนายเป้า นางปิผู้วายชนม์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ได้

พิพากษายืน

Share