แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อคดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวงแล้ว การอุทธรณ์ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503มาตรา 10 คือ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรานี้ แต่ถ้ามีการรับรองให้อุทธรณ์ตามมาตรา 22 ทวิก็อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลชั้นต้นสั่งฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า “รับเป็นคำฟ้องอุทธรณ์สำเนาให้ฝ่ายหนึ่งแก้” เพียงเท่านี้ยังไม่ถือว่าผู้พิพากษาผู้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะในคำสั่งมิได้ชี้แจงเหตุผลว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้ตาม มาตรา 22 ทวิ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คดีโจทก์มีมูล จะเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 ต้องเป็นการ อุทธรณ์เรื่องการไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่มิต้องบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499เมื่ออุทธรณ์ครั้งแรกของโจทก์ถูกห้ามมิให้อุทธรณ์ตามกฎหมายอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคแรก แล้วศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยประมาทฝ่าฝืนกฎหมายจะเลี้ยวขวาตรงทางแยกไม่ขับรถให้ช้าลง และขับล้ำแนวเส้นกึ่งกลางของทางไปขวามือ เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับมานั้น ชนกับรถสามล้อเครื่องที่โจทก์กับพวกโดยสารมา ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสถึงทุพพลภาพและป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙, ๒๙๗, ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๙, ๑๐, ๑๓, ๒๘, ๒๙, ๓๒, ๗๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๔, ๗, ๑๓ กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗(ฉบับที่ ๒) ข้อ ๑๑
ศาลแขวงธนบุรีสั่งฟ้องว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘มาตรา ๑๓ และจะฟ้องให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ไม่ได้ เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงพิจารณา พิพากษาให้ยกฟ้อง ๒ ข้อหานี้ นอกนั้นสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยแก้คดี จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลสอบถามจำเลย จำเลยว่าเป็นทหารเรือประจำการขณะเกิดเหตุศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว สั่งงดสืบพยานสองฝ่าย วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นทหารประจำการคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารจะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๖(๑) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแขวงธนบุรี พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้แม้จะปรากฏในภายหลังว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ศาลพลเรือนก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลแขวงธนบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวงแล้ว การอุทธรณ์ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙มาตรา ๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๐ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรานี้ แต่ถ้ามีการรับรองให้อุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒ ทวิ ก็อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เรื่องนี้ศาลแขวงธนบุรีสั่งฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า”รับเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ สำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้” เพียงเท่านี้ยังไม่ถือว่าผู้พิพากษาผู้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะในคำสั่งมิได้ชี้แจงเหตุผลว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาตามมาตรา ๒๒ ทวิ ที่โจทก์แก้ฎีกาว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาว่าคดีโจทก์มีมูล ได้เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบเห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรื่องนี้จะเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๗๐ ต้องเป็นการอุทธรณ์เรื่องการไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่มิต้องบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่ออุทธรณ์ครั้งแรกของโจทก์ถูกห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมายอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๓ วรรคแรก แล้วศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้รับฟ้องคดีโจทก์ไว้พิจารณาจึงมิชอบ
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์