แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกอีกฝ่ายหนึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเข้าทำร้ายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ 2ที่ 3 ใช้มือผลักและชกจำเลยที่ 1 ที่ใบหน้า ส่วนพวกที่หลบหนีคนหนึ่งใช้จอบตีจำเลยที่ 1 ย่อมมีความหมายว่า ฝ่ายของจำเลยที่2ที่ 3 ได้ร่วมกันกระทำความผิดในการทำร้ายฝ่ายจำเลยที่ 1 นั่นเองซึ่งโจทก์ก็ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 มาด้วยแล้วแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนใดผลักคนใดชกเป็นการกระทำร่วมกันหรือสมคบกันอย่างไร ก็ไม่ถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กับพวกที่หลบหนีอีก ๒ คนอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ใช้มือผลักและชกจำเลยที่ ๑ที่บริเวณใบหน้า ส่วนพวกที่หลบหนีคนหนึ่งใช้จอบตีทำร้ายจำเลยที่ ๑เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามรายงานชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องและจำเลยที่ ๑ ใช้ปืนพกเบรานิงยิงถูกบริเวณเหนือเข่าข้างขวาของจำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายแก่กาย ตามรายงานชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๙๕
จำเลยทั้งสามต่างให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยที่ ๑ ขอให้การรับสารภาพ
ศาลแขวงธนบุรีฟังว่า จำเลยที่ ๓ ผลักจำเลยที่ ๑ ก่อน จำเลยที่ ๒เข้าชกต่อยจำเลยที่ ๑ และคนงานของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ใช้จอบตีจำเลยที่ ๑จำเลยที่ ๑ จึงชักปืนยิงขึ้นฟ้า ๑ นัดเพื่อขู่ การกระทำของจำเลยที่ ๑เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด จำเลยที่ ๒ ที่ ๓มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๘๓ ปรับคนละ๔๐๐ บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ รับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ชอบที่จะลงโทษได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาข้อ ๔ วรรคสุดท้าย มีว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้เลยว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ใช้มือผลักและชกนั้น จำเลยคนใดผลักคนใดชกเป็นการกระทำร่วมกันหรือสมคบกันอย่างไร จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม จะลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ใช้มือผลักและชกจำเลยที่ ๑ ที่ใบหน้าส่วนพวกที่หลบหนีคนหนึ่งใช้จอบตีทำร้ายจำเลยที่ ๑ ได้รับอันตรายแก่กายซึ่งหมายถึงพวกของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ตามฟ้องตอนต้นนั่นเอง และในกรณีฟ้องว่าจำเลยสองฝ่ายต่างเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ย่อมมีความหมายว่าอีกฝ่ายหนึ่งที่มีพวกตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ร่วมกันกระทำความผิดในการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งนั่นเอง ซึ่งโจทก์ก็ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓อันเป็นบทว่าด้วยตัวการร่วมกันกระทำความผิดอยู่แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับอันตรายแก่กายตามมาตรา ๒๙๕ ได้
พิพากษายืน