คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2229/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ของกลางมีลักษณะใหม่และสด ตัดมาจากป่าไม่เกินสองปี ดูไม่ออกว่าเป็นชิ้นส่วนของเตียงนอนเพียงแต่ไสกบตบแต่งและบางชิ้นทาแชลแล็คไว้ลักษณะของไม้ดังกล่าวประกอบเป็นเครื่องใช้พอเป็นพิธีมิได้มีเจตนาจะใช้เป็นเตียงนอนอย่างจริงจัง แต่เป็นการทำเพียงให้เห็นเป็นรูปลักษณะของเตียงนอนเพื่อพรางหรือลวงโดยเจตนาจะหลีกเลี่ยงกฎหมาย จะถือว่าเป็นไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4)พ.ศ.2503 มาตรา 4(4)หาได้ไม่ แต่เป็นไม้แปรรูปตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้สักแปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามจำนวน ๕๕๕ ชิ้น ปริมาตรเนื้อไม้ ๓.๕๕ ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม้ของกลางมิใช่ไม้แปรรูป หากเป็นเตียงนอนอยู่ในสภาพเป็นของใช้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ซื้อไม้ของกลางในสภาพเป็นเตียงนอนสำเร็จรูปมา แต่ทำให้เป็นรูปลักษณะของเตียงนอนไว้เพื่อพรางเลี่ยงกฎหมาย พิพากษาว่าจำเลยผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองไม่รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ไม้ของกลางมีสภาพเป็นเตียงนอนซึ่งเป็นเครื่องใช้โดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ไม้แปรรูปตามกฎหมาย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยนั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๒ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ไม้ของกลางมีลักษณะใหม่และสด ตัดมาจากป่าไม้เกินสองปี แต่ละชิ้นไม่มีรอยดวงตราของเจ้าหน้าที่ประทับไว้ ดูไม่ออกว่าเป็นชิ้นส่วนของเตียงนอน เพียงแต่ไสกบตบแต่ง และบางชิ้นทาแชลแล็คไว้ ฟังไม่ได้ว่าไม้สักของกลางอยู่ในสภาพเป็นเตียงนอนสำเร็จรูปอันอยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้โดยสมบูรณ์ ลักษณะของไม้ดังกล่าวประกอบเป็นเครื่องใช้พอเป็นพิธี มิได้มีเจตนาจะใช้เป็นเตียงนอนอย่างจริงจังแต่เป็นการทำเพียงให้เห็นเป็นรูปลักษณะของเตียงนอนเพื่อพรางหรือลวงโดยเจตนาจะหลีกเลี่ยงกฎหมาย จะถือว่าเป็นไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๔(๔) หาได้ไม่ ฎีกาจำเลยไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน

Share