คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงาน ฯมาตรา 49 นั้น แม้ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดทางวินัยประการใดหากมีสาเหตุอันเกิดแต่ฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายนายจ้างเพียงพอแก่การเลิกจ้างแล้ว ก็มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีตำแหน่งเป็นนักบินระดับ ๖ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเอกสารทางเทคนิคที่นักบินต้องปฏิบัติเป็นเหตุให้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของจำเลยตก เป็นการปฏิบัติงานบกพร่องในหน้าที่ และไม่เป็นที่ไว้วางใจ ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและสภาพการจ้างเดิม หากไม่รับกลับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินโบนัส เงินบำเหน็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของจำเลยตก ถือเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และเงินบำเหน็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ศาลแรงงานกลางตั้งประเด็นข้อพิพาทว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และเมื่อสืบพยานของคู่ความแล้วกรณีที่เครื่องบินตกเป็นเพราะเหตุใด ประการใดศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติและวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์มีสาเหตุอันเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ อันเป็นการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งแม้ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดทางวินัยประการใด หากมีสาเหตุอันเกิดแก่ฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายนายจ้างที่เพียงพอแก่การเลิกจ้างแล้ว การเลิกจ้างนั้นก็มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน.

Share