แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา ในกรณีที่ศาลเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเอกสารในสำนวน และศาลเห็นสมควร ศาลก็ย่อมใช้อำนาจของศาลเองที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99ส่งเอกสารนั้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ได้ โดยไม่จำต้องให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นบัญชีระบุพยานหรือระบุชื่อผู้เชี่ยวชาญ จำเลยเป็นพี่ชายเจ้ามรดก ส่วนโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก จำเลยเป็นทายาทลำดับหลังโจทก์ ไม่มีสิทธิรับมรดกรายนี้ จำเลยจึงยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 มาต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของสิบตำรวจเอกกำเนิด พงษ์ประดิษฐ์ และมีสิทธิรับมรดกของสิบตำรวจเอกกำเนิดแต่ผู้เดียว สิบตำรวจเอกกำเนิด เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลย 1 แปลง สิบตำรวจเอกกำเนิดถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ขอให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และสิบตำรวจเอกกำเนิดได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นไม่ควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องเกี่ยวกับ พ.ศ. ที่สิบตำรวจเอกกำเนิดถึงแก่กรรมนั้น เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนั้น ฎีกาข้อนี้จำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ส่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจพิสูจน์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพราะโจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า3 วัน มิได้ระบุชื่อบุคคลที่จะเป็นผู้ตรวจว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญของกรมตำรวจหรือที่ขึ้นบัญชีไว้กับกระทรวงยุติธรรม มิได้ระบุให้ตรวจในข้อใด จำเลยไม่มีโอกาสซักค้านผู้ตรวจเอกสารทำให้จำเลยเสียเปรียบทั้งศาลอุทธรณ์ชี้ขาดให้เฉพาะอุทธรณ์เรื่องไม่ยื่นบัญชีระบุพยานข้อเดียวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดไปแล้วว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลเห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องตั้งผู้เชี่ยวชาญและศาลเห็นสมควร จึงเป็นการใช้อำนาจของศาลเองที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 99 ส่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ ไม่จำต้องให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานหรือระบุชื่อผู้เชี่ยวชาญดังข้อฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้ชี้ขาดข้ออุทธรณ์ของจำเลยไว้ครบถ้วนและต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้จากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายว่า จำเลยเป็นพี่ชายของสิบตำรวจเอกกำเนิด พงษ์ประดิษฐ์ เจ้ามรดก ส่วนโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก จำเลยจึงเป็นทายาทลำดับหลังโจทก์ ไม่มีสิทธิได้รับมรดกรายนี้เพราะยังมีโจทก์เป็นทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่จำเลยจึงยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 มาต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกไม่ได้ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่อีกต่อไป
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สิบตำรวจเอกกำเนิด พงษ์ประดิษฐ์ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วนั้น จำเลยมีพยานรู้เห็นขณะทำพินัยกรรม 3 ปาก คือ จำเลย นายเสียง นามสงวน และนายบรรจงอาจชำนิ แต่พยานดังกล่าวเบิกความแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญหลายประการ เช่น จำเลยว่านั่งคุยกับนายเสียงได้ประมาณ1 ชั่วโมง สิบตำรวจเอกกำเนิดจึงมา แต่นายเสียงว่านั่งคุยกับจำเลยประมาณ 10 นาที สิบตำรวจเอกกำเนิดก็มา นับว่าแตกต่างกันมาก จำเลยว่าไปตามนายบรรจงหลังจากอ่านพินัยกรรมแล้วแต่นายเสียงว่าคุยกับสิบตำรวจเอกกำเนิดและจำเลยเกี่ยวกับการทำมาหากินได้ 2-3 นาที จำเลยจึงไปตามนายบรรจง แสดงว่ายังไม่รู้เรื่องพินัยกรรม และนายเสียงว่าสิบตำรวจเอกกำเนิดอ่านพินัยกรรมให้ฟัง แต่นายบรรจงว่าไม่ได้อ่าน ดังนี้พยานจำเลยจึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อ ตรงข้ามกับโจทก์ซึ่งมีสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 115/2525 ของศาลชั้นต้น เป็นพยานหลักฐานโดยจำเลยเบิกความรับไว้ด้วยว่าเป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนั้นขอให้ตั้งนางหลู่จู้แซ่เบ้ง เป็นผู้จัดการมรดกของสิบตำรวจเอกกำเนิด พงษ์ประดิษฐ์เจ้ามรดกคดีนี้ไว้ก่อนจะถูกฟ้องเป็นคดีนี้ว่าเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทั้งจำเลยและนางหลู่จู้ก็เบิกความยืนยันไว้ในคดีนั้นด้วยว่าเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้อีกด้วย เพิ่งมาตอบติงในคดีนี้ว่า ที่ว่าไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หมายถึงพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ที่เป็นหุ้นในโรงแรมสินทวีกับที่ดินสวนกาแฟซึ่งไม่สมเหตุสมผล หลักฐานตามสำนวนดังกล่าวของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ นอกจากนี้ยังปรากฏจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันกับตัวอย่างลายมือชื่อของสิบตำรวจเอกกำเนิด พงษ์ประดิษฐ์ ในเอกสารหมายจ.1, จ.2, จ.3, จ.8 และในใบแต่งทนายความลงวันที่ 6 พฤษภาคม2518 แสดงว่าสิบตำรวจเอกกำเนิดเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.2 ขึ้น พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสิบตำรวจเอกกำเนิดเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ที่ดินพิพาทส่วนของเจ้ามรดกจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาทแทนโจทก์