แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ของที่จำเลยนำเข้ามาผลิตหรือผสม หรือประกอบเพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำของเข้า จำเลยย่อมได้รับคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ การที่จำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปวางประกันการชำระค่าภาษีอากรและรับของมาจากศุลกากร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระภาษีอากรแล้ว เพราะเป็นเพียงผ่อนผันการชำระอากรขาเข้าให้แก่จำเลยเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้นำของดังกล่าวมาผลิต หรือผสม หรือประกอบแล้วส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี จำเลยย่อมไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษีอากรและมีหน้าที่ต้องนำภาษีอากรไปชำระต่อศุลกากรกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 112 ทวิ วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ที่พนักงานศุลกากรจะต้องทำการประเมินและแจ้งให้จำเลยผู้นำของเข้านำภาษีอากรไปชำระเสียก่อน เพราะมิได้มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีอากรว่าผู้นำของเข้าจะต้องเสียประเภทใดและเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อจำเลยไม่นำภาษีอากรไปชำระพระราชบัญญัติศุลกากรก็มิได้บัญญัติให้พนักงานศุลกากรเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันทันที และตามพระราชบัญญัติศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดี มิได้กำหนดระยะเวลาให้พนักงานศุลกากรติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด พนักงานศุลกากรจึงเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรได้ภายในอายุความ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ที่ให้สิทธิเจ้าหนี้เรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อพนักงานศุลกากรเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันแล้วยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดและได้ประเมินภาษีอากรไปยังจำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระจำเลยจึงต้องรับผิดชำระภาษีอากรส่วนที่ขาดรวมทั้งเงินเพิ่ม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 บัญญัติให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้นการที่จำเลยนำของเข้ามาผลิตหรือผสม หรือประกอบ เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี และได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาค้ำประกันการชำระภาษีอากรนั้น ในระหว่าง 1 ปีดังกล่าวโจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าภาษีอากร สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรจะเกิดขึ้นเมื่อครบกำหนด 1 ปีดังกล่าวแล้ว และจำเลยมิได้ใช้ของที่นำเข้ามาผลิต หรือผสมหรือประกอบสินค้าส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อจำเลยนำของเข้าเมื่อ 30 พฤษภาคม 2518 และมิได้ใช้ของดังกล่าวผลิต หรือผสม หรือประกอบสินค้าส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี อายุความเริ่มนับถัดจากวันที่ครบ 1 ปี คือวันที่ 1 มิถุนายน 2519 เป็นต้นไป ถึงวันฟ้องคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๘ จำเลยได้นำสินค้าเส้นด้ายที่ทำด้วยเส้นใยประดิษฐ์ สำหรับใช้ในการทอผ้า จำนวน ๕๐๐ หีบห่อ เข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อโจทก์โดยแสดงความประสงค์ว่า ของที่นำเข้า จำเลยจะใช้ในการเพื่อผลิต หรือผสม หรือประกอบสินค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อขอคืนอากรโดยจำเลยใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารแทนการชำระหนี้ค่าอากรที่ต้องชำระ เจ้าหน้าที่ของโจทก์อนุมัติและตรวจปล่องของให้จำเลยรับไป จำเลยมิได้นำสินค้าข้างต้นไปใช้ในการผลิต หรือผสมหรือประกอบเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศภายในกำหนด ๑ ปี จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้คืนอากรขาเข้า และจำเลยไม่ชำระค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าขาเข้า โจทก์ที่ ๑ เรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรแทนจำเลยแล้ว ปรากฏว่าเงินประกันไม่คุ้ม จำเลยยังต้องชำระค่าภาษีอากรเพิ่มเติมเป็นเงินรวม ๑๙๖,๑๒๓.๔๖ บาท โจทก์ที่ ๑ ได้ประเมินให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยเพิกเฉยและมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวพร้อมทั้งเงินเพิ่ม
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะจำเลยได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแทนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งโจทก์ได้อนุมัติ เท่ากับว่าหนี้ค่าภาษีอากรได้มีการชำระกันแล้ว เมื่อจำเลยไม่ส่งสินค้าวัตถุดิบดังกล่าวออกนอกราชอาณาจัตร โจทก์ก็บังคับให้ธนาคารชำระหนี้ได้อยู่แล้ว โจทก์เพิกเฉยไม่สนใจทวงถามจึงเป็นผู้ผิดนัดและเป็นผู้ทำให้หนี้เงินค่าภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ธนาคารค้ำประกันสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางสอบคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ยังขาดเป็นเงิน ๑๙๖,๑๒๓.๔๖ บาท พร้อมเงินเพิ่ม
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีอากรวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าในกรณีผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยแสดงความจำนงต่อโจทก์ว่าจะใช้ของนั้นในการผลิต หรือผสม หรือประกอบส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด ๑ ปี เพื่อขอคืนอากรตามมาตรา ๑๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ( ฉบับที่ ๙ ) พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมีธนาคารค้ำประกันการชำระภาษีอากร ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องแจ้งหรือทวงถามจำเลยหรือธนาคารผู้ค้ำประกันให้นำภาษีอากรมาชำระตามมาตรา ๑๑๒ ทวิ วรรคแรก และเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องเรียกเก็บภาษีอากรจากธนาคารผู้ค้ำประกันทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๖ นั้นเห็นว่า ตามมาตรา ๑๑๒ ทวิ วรรคแรก เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีอากรมีความเห็นว่า ภาษีอากรที่ผู้นำของเข้าสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า ฯ ไม่ถูกต้อง มีปัญหาว่า ผู้นำของเข้าจะต้องเสียภาษีอากรประเภทใดและเป็นจำนวนเท่าใด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงต้องทำการประเมินและแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบถึงผลการประเมินและนำภาษีอากรมาชำระทั้งนี้เพื่อให้โอกาสผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมิน แต่ในกรณีที่จำเลยนำของเข้ามาในคดีนี้ จำเลยได้สำแดงรายการเสียภาษีอากรไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า ฯ แล้วว่าต้องเสียภาษีอากรประเภทใด เป็นจำนวนเท่าใด และได้ให้ธนาคารค้ำประกันการชำระภาษีอากรไว้ การกระทำดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระภาษีอากรแล้ว การที่โจทก์ยอมปล่อยหรือมอบของให้จำเลย โดยยอมรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกัน เป็นเพียงผ่อนผันการชำระภาษีอากรให้จำเลย มิใช่เป็นการผอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระภาษีอากร เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินของโจทก์มิได้ทักท้วงเกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่จำเลยได้สำแดงไว้ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรสำหรับของที่จำเลยนำเข้า กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๑๒ ทวิ วรรคแรก เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำภาษีอากรตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระแก่โจทก์พร้อมทั้งเงินเพิ่ม ตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร มิใช่เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องติดตามทวงถามหรือแจ้งให้จำเลยนำค่าภาษีอากรมาชำระ และไม่มีบทบัญญัติมาตราใด แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันได้ทันที และตามพระราชบัญญัติศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดี มิได้กำหนดระยะเวลาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรเมื่อใดก้ได้ภายในอายุความ ส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๖ ที่บัญญัติไว้ว่า ” ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น” ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวเมื่อใดก้ได้ภายในอายุความเช่นเดียวกัน เมื่อได้เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามหนังสือค้ำประกันแล้ว เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดและได้ประเมินภาษีอากรไปยังจำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรที่ขาดรวมทั้งเงินเพิ่มที่จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙ บัญญัติไว้ว่า ” วันอายุความ ท่านให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…….” คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๘ โดยแสดงความจำนงต่อโจทก์ว่าจะใช้ของที่นำเข้ามาผลิต หรือผสม หรือประกอบ ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด ๑ ปี เพื่อขอคืนอากรและจำเลยนำหนังสือค้ำประกันมาวางต่อโจทก์ดังนั้นในระหว่าง ๑ ปีนี้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีอากร เมื่อจำเลยครบ ๑ ปี นับแต่วันที่จำเลยนำเข้ามาแล้ว จำเลยมิได้ใช้ของที่นำเข้ามาผลิต หรือผสมหรือประกอบสินค้าส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ โจทก์จึงเกิดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีอากรนับถัดจากวันที่ครบกำหนด ๑ ปี คือวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๙ เป็นต้นไป นับถึงวันฟ้องวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ยังไม่เกิน ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน