แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้หมายความถึงกับว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องมิได้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใด ๆ มาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเลย เจ้าพนักงานประเมินจึงจะใช้อำนาจประเมินตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากผู้ยื่นรายการนำเอกสารหลักฐานแต่เพียงบางส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ ความถูกต้องแท้จริงของแบบรายการที่ยื่นมาแสดง เจ้าพนักงานประเมินก็ไม่มีโอกาสที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 71 (1) ได้
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเพื่อตรวจสอบ โจทก์นำส่งแต่แฟ้มใบสำคัญคู่จ่ายเพียง 30 แฟ้ม ส่วนสมุดบัญชี สำเนาใบเสร็จรับเงิน และสัญญาต่าง ๆ โจทก์ไม่ยอมส่งมอบอ้างว่าสูญหายโดยไม่อาจรับฟังได้ ลำพังใบสำคัญจ่ายไม่เพียงพอที่จะตรวจหากำไรสุทธิ และคำนวณภาษีที่โจทก์จะต้องเสียได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินอาศัยมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายจากโจทก์จึงชอบแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่า เจ้าพนักงานไม่มีสิทธิและไม่ควรใช้อำนาจตามมาตรา ๗๑ (๑) ประเมินภาษีจากโจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ในปัญหาที่โจทก์อ้างว่า เจ้าพนักงานประเมินจะนำมาตรา ๗๑ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะกรณีตามมาตรา ๗๑ (๑) หมายถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใด ๆ มาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนเลยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าความในมาตรา ๑๙ มีว่าเมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งให้ผู้ยื่นรายการนำบัญชีหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของรายการตามแบบที่ยื่น ดังนั้นเมื่อนำความในมาตรา ๑๙ มาพิเคราะห์ประกอบกับความในมาตรา ๗๑ (๑) แล้ว เห็นว่า ความในมาตรา ๗๑ (๑) มิได้หมายความถึงกับว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องมิได้นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ มาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเลย เจ้าพนักงานประเมินจึงจะใช้อำนาจประเมินตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากผู้ยื่นรายการนำเอกสารหลักฐานแต่เพียงบางส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของแบบรายการที่ยื่นมาแสดงเจ้าพนักงานประเมินก็ไม่มีโอกาสที่จะใช้อำนาจตามมาตรา ๗๑ (๑) ได้การตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของรายการตามแบบที่ยื่นของเจ้าพนักงานประเมินก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของโจทก์ในเรื่องบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานที่เจ้าพนักงานประเมินให้นำไปส่งมอบเพื่อตรวจสอบสูญหายเพราะเหตุน้ำท่วมหรือสูญหายเนื่องจากขนย้ายสำนักงานฟังไม่ได้ ทั้งลำพังเพียงใบสำคัญคู่จ่ายที่โจทก์นำส่ง เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถคำนวณหากำไรสุทธิได้
สำหรับเรื่องที่โจทก์อ้างกรณีของบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เชลล์ จำกัด ซึ่งคณะกรรมการ กพอ. มีมติมิให้นำมาตรา ๗๑ (๑) มาใช้ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๒๑ นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.๒๑ มิใช่คำสั่งของกรมสรรพากร ให้ถือปฏิบัติเป็นการทั่วไป แต่เป็นมติของคณะกรรมการ กพอ. เป็นการเฉพาะเรื่องของบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เชลล์ จำกัด ที่ไม่สามารถนำบัญชี และเอกสารประกอบการลงบัญชีมามอบต่อเจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียกว่า เจ้าพนักงานประเมินสามารถประเมินอาศัย มาตรา ๗๑ (๑) ได้ แต่เนื่องจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เชลล์ จำกัด มีกิจการเฉพาะจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่ซึ่งสามารถหาหลักฐานมาคำนวณกำไรสุทธิได้ง่าย จึงไม่ควรจะใช้วิธีการประเมินตามมาตรา ๗๑ (๑) ซึ่งแตกต่างกับกรณีของโจทก์ซึ่งมีกิจการค้าอย่างอื่นนอกจากการจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่และเจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถจะหาหลักฐานมาคำนวณหากำไรสุทธิได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีจากโจทก์ในอัตราร้อยละ ๕ จากยอดรายได้ที่ปรากฏในงบดุลโดยไม่หักรายจ่ายเสียก่อน ตามความในมาตรา ๗๑ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรจึงเป็นการถูกต้อง
พิพากษายืน.