คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6660/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2500 มาตรา 34 วรรคแรก กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับข้าราชการบำนาญที่กลับรับราชการใหม่ไว้ว่า “ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับหรือมีสิทธิในบำนาญปกติแล้ว ภายหลังกลับเข้ารับราชการใหม่ ถ้าเงินเดือนที่ได้รับในขณะที่เข้ารับราชการครั้งใหม่น้อยกว่าเงินเดือนเดิมเมื่อก่อนออกจากราชการ จะขอรับบำนาญรวมกันไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าเงินเดือน รวมกับบำนาญสูงกว่าเงินเดือนเดิมต้องลดบำนาญลงในระหว่าง ที่รับราชการครั้งหลังจนเงินเดือนใหม่รวมกับบำนาญ ไม่สูงกว่าเดือนเดิม” ดังนั้นเมื่อจำเลยได้รับเงินเดือน ในขณะที่เข้ารับราชการครั้งใหม่น้อยกว่าเงินเดือนเดิม เมื่อก่อนออกจากราชการเป็นเงิน 290 บาท บำนาญแต่ละเดือน ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจึงมีไม่เกิน 290 บาท สำหรับเงินช่วย ค่าครองชีพข้าราชการบำนาญจำนวน 63,460 บาท ที่จำเลยรับไป จากโจทก์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2533 นั้น เมื่อจำเลยเข้ารับราชการใหม่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2514 จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญพ.ศ. 2521 มาตรา 5 เดิม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2521 และที่แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2523 และเป็น หน้าที่ของจำเลยในอันที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับ เข้ารับราชการใหม่ในหน่วยราชการอื่น เพื่อโจทก์จะได้จ่ายเงินบำนาญให้แก่จำเลยได้ถูกต้องตามสิทธิของจำเลย การที่จำเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการกลับเข้ารับราชการใหม่ทำให้โจทก์จ่ายเงินบำนาญรวมเงินเพิ่มและเงินช่วยค่าครองชีพข้าราชการบำนาญแก่จำเลยไปเกินกว่าสิทธิที่จำเลยจะได้รับนั้นเป็นการปิดบังทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกลับเข้ารับราชการใหม่แล้วยังรับบำนาญรวมกับเงินเพิ่มและเงินช่วยค่าครองชีพโดยไม่ชอบ จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 262,543.50 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า บำนาญรวมกับเงินเพิ่มและเงินช่วยค่าครองชีพข้าราชการบำนาญ (ช.ค.บ.) ตามฟ้องรวม 262,543.50 บาทนั้นจำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์จำเลยรับไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวบางส่วนเกินกว่า 10 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 202,803.50 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเคยเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น สังกัดโจทก์ จำเลยลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2514 ก่อนลาออกจากราชการจำเลยได้รับเงินเดือนเดิม เดือนละ 1,100 บาท จำเลยเข้ารับราชการใหม่ที่เทศบาลเมืองยะลาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2514 โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 810 บาท เมื่อจำเลยลาออกจากราชการดังกล่าวจำเลยรับบำนาญรวมเงินเพิ่มไปจากโจทก์ ดังนี้ ตั้งแต่วันที่1 สิงหาคม 2514 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2516 รับไปเดือนละ731.50 บาท รวมเป็นจำนวน 21,213.50 บาท ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2517 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2533 รับไปเดือนละ907.50 บาท รวมเป็นจำนวน 177,870 บาท นอกจากนั้นจำเลยยังรับเงินช่วยค่าครองชีพข้าราชการบำนาญ (ช.ค.บ.) จากโจทก์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2533 รวมเป็นจำนวน 63,460 บาท และจำเลยออกจากราชการที่เทศบาลเมืองยะลาเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อปี 2531 โจทก์มาฟ้องให้จำเลยคืนเงินบำนาญรวมเงินเพิ่มและเงินช่วยค่าครองชีพข้าราชการบำนาญที่จำเลยได้รับไปแก่โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2500 มาตรา 34 วรรคแรก กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับข้าราชการบำนาญที่กลับรับราชการใหม่ไว้ว่า “ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับหรือมีสิทธิในบำนาญปกติแล้วภายหลังกลับเข้ารับราชการใหม่ถ้าเงินเดือนที่ได้รับในขณะที่เข้ารับราชการครั้งใหม่น้อยกว่าเงินเดือนเดิมเมื่อก่อนออกจากราชการ จะขอรับบำนาญรวมกันไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าเงินเดือนรวมกับบำนาญสูงกว่าเงินเดือนเดิมต้องลดบำนาญลงในระหว่างที่รับราชการครั้งหลังจนเงินเดือนใหม่รวมกับบำนาญไม่สูงกว่าเงินเดือนเดิม” ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับเงินเดือนในขณะที่เข้ารับราชการครั้งใหม่น้อยกว่าเงินเดือนเดิมเมื่อถอนออกจากราชการเป็นเงิน 290 บาท บำนาญแต่ละเดือนที่จำเลยมีสิทธิได้รับจึงไม่เกิน 290 บาท และสำหรับเงินช่วยค่าครองชีพข้าราชการบำนาญจำนวน 63,460 บาท ที่จำเลยรับไปจากโจทก์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2533 นั้น เมื่อจำเลยเข้ารับราชการใหม่แล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2514 จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 มาตรา 5 เดิม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2521 และที่แก้ไขฉบับที่ 2พ.ศ. 2523 และเป็นหน้าที่ของจำเลยในอันที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการใหม่ในหน่วยราชการอื่นเพื่อโจทก์จะได้จ่ายเงินบำนาญให้แก่จำเลยได้ถูกต้องตามสิทธิของจำเลยการที่จำเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการกลับเข้ารับราชการใหม่ทำให้โจทก์จ่ายเงินบำนาญรวมเงินเพิ่ม และเงินช่วยค่าครองชีพข้าราชการบำนาญแก่จำเลยไปเกินกว่าสิทธิที่จำเลยจะได้รับนั้นเป็นการปิดบังทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share