คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 76 ที่บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นนอกจากหนี้ตาม (1) ถึง (5) มาหักกับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกหักเงินดังกล่าวในระหว่างที่ลูกจ้างยังไม่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเท่านั้น โจทก์ขอหักกลบลบหนี้เงินค่าจ้าง เงินรางวัลจากการขายฯ ที่โจทก์จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 กับค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์หลังจากจำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว และการหักกลบลบหนี้กระทำได้ด้วยการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย โจทก์จึงขอหักกลบลบหนี้ได้ แต่การหักกลบลบหนี้จะกระทำได้เฉพาะกับสิทธิเรียกร้องหรือหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ ซึ่งในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่าหนี้ค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ต่อมาในชั้นพิจารณาของศาลโจทก์จึงยอมรับว่าหนี้ค่าเช่าซื้อเป็นดังที่จำเลยที่ 1 โต้แย้ง หนี้ค่าเช่าซื้อที่โจทก์ขอหักกลบลบหนี้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้ ไม่สามารถหักกลบลบหนี้ได้ ที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับแก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่เมื่อในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานโจทก์และจำเลยที่ 1 แถลงรับจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยโดยมิได้โต้แย้งกันอีก หนี้ค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์จึงเป็นอันยุติ มิได้เป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้ต่อไป โจทก์จึงขอนำไปหักกลบลบหนี้กับเงินต่าง ๆ ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 28/2546 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 สั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้าง เงินราวัลจากการขาย เงินประกัน เงินสะสม ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมเป็นเงิน 64,599 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มีสิทธิหักเงินดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) (4) และมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระได้
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 ว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ในตำแหน่งพนักงานขาย กำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินประกันจำนวน 5,000 บาท เงินสะสมจำนวน 4,200 บาท ค่าจ้างเดือนเมษายน 2546 กับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 จำนวน 4,899 บาท เงินรางวัลจากการขายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2546 จำนวน 9,400 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,220 บาท และค่าชดเชยจำนวน 32,880 บาท จากโจทก์ รวมเป็นเงิน 64,599 บาท เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2539 ระหว่างการทำงานจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุจากโจทก์ไป 1 คัน โดยมิได้ยินยอมให้โจทก์นำเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อ ก่อนที่โจทก์จะเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงานโจทก์อ้างว่ารวมเป็นเงิน 869,746 บาท จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง ความจริงมีจำนวนเพียง 322,270 บาท เพราะจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ไปแล้ว และโจทก์กับจำเลยที่ 1 รับกันว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ได้คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์แล้ว หนี้ค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยเหลืออยู่เพียง 322,270 บาท ซึ่งโจทก์จะขอหักกลบลบหนี้กับเงินต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากโจทก์ ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์มีสิทธินำเงินค่าจ้าง เงินรางวัลจากการขาย เงินประกัน เงินสะสม ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากโจทก์รวม 64,599 บาท ไปหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระได้หรือไม่ และคำสั่งของจำเลยที่ 2 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า หนี้ค่าเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่หนี้ตามข้อยกเว้นในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) ถึง (5) และจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมให้โจทก์นำเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับไปหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับไปหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ คำสั่งของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 หรือไม่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ที่บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นนอกจากหนี้ตาม (1) ถึง (5) มาหักกับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกหักเงินดังกล่าวในระหว่างที่ลูกจ้างยังไม่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเท่านั้น คดีนี้โจทก์ขอหักกลบลบหนี้เงินค่าจ้าง เงินรางวัลจากการขาย เงินประกัน เงินสะสม ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์จะต้องจ่ายให้กับจำเลยที่ 1 กับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์หลังจากจำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเนื่องจากถูกเลิกจ้างแล้ว และการหักกลบลบหนี้กระทำได้ด้วยการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า หนี้ค่าเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่หนี้ตามข้อยกเว้นในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1) ถึง (5) และจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมให้โจทก์นำเงินค่าจ้าง เงินรางวัลจากการขาย เงินประกัน เงินสะสม ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับไปหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่การหักกลบลบหนี้จะกระทำได้เฉพาะกับสิทธิเรียกร้องหรือหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งว่าจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างรวมเป็นเงิน 869,746 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง ความจริงมีจำนวนเพียง 322,270 บาท ซึ่งในชั้นพิจารณาของศาลโจทก์ยอมรับว่าเป็นดังที่จำเลยที่ 1 โต้แย้ง หนี้ค่าเช่าซื้อที่โจทก์ขอหักกลบลบหนี้กับเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากโจทก์ ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้ ยังไม่สามารถหักกลบลบหนี้ได้ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน แต่ข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แถลงรับกันว่าหนี้ค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์มีจำนวน 322,270 บาท มิได้โต้แย้งกันอีก ทั้งโจทก์ขอหักกลบลบหนี้กับเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากโจทก์และคู่ความขอให้ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยแต่เพียงว่าโจทก์มีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่ ดังนี้ หนี้ค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์จึงเป็นอันยุติว่ามีจำนวน 322,270 บาท มิได้เป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้แล้วตั้งแต่วันที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แถลงรับกัน โจทก์จึงขอหักกลบลบหนี้กับเงินต่าง ๆ ที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ หนี้ที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 มีจำนวนเพียง 64,599 บาท น้อยกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ดังนั้น โจทก์จึงไม่ต้องชำระเงินต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 28/2546 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ซึ่งสั่งให้โจทก์ชำระค่าจ้าง เงินรางวัลจากการขาย เงินประกัน เงินสะสม ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวม 64,599 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2.

Share