คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สินค้าเครื่องจักรที่ผู้ขายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าตามวัตถุประสงค์ที่สั่งซื้อได้ ซึ่งเกิดจากในการแสดงเอกสารเพื่อขอรับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ผู้ขายมิได้ส่งมอบเอกสารแสดงคุณลักษณะทางเทคนิคของอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์กับเอกสารแบบระบบไฟฟ้าและคู่มือแนะนำการใช้งานรวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่ให้แก่ธนาคารตัวแทนของโจทก์เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ในประเทศไทยตามเงื่อนไขแห่งเลตเตอร์ออฟเครดิต ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถประกอบติดตั้งส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักรเข้าด้วยกันและเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้ แม้โจทก์และธนาคารตัวแทนของโจทก์จะไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าในตู้สินค้า แต่ก็มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบเอกสารตามที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่ธนาคารตัวแทนของโจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายโดยไม่ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงเป็นการชำระเงินไปโดยผิดจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ตกลงด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่จะต้องชดใช้เงินที่ธนาคารตัวแทนของโจทก์หรือโจทก์จ่ายไปโดยผิดจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาทรัสต์รีซีทมาด้วย แต่หนี้ตามสัญญาดังกล่าวมีมูลหนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ชำระเงินแก่ผู้ขายตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยตรง และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ก็โดยมีวัตถุประสงค์ขอรับเอกสารการส่งสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยออกมาก่อน โดยยังไม่ชำระเงินค่าสินค้าคืนให้แก่โจทก์ในวันนั้นแต่จะชำระคืนให้ในภายหลังและมีข้อตกลงว่าสินค้านั้นยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ สัญญาทรัสต์รีซีทจึงไม่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งมีมูลหนี้เดิมมาจากสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตด้วย รวมทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหลักประกันของหนี้รายนี้ด้วย และเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่จำต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำฟ้องแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่จำต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำฟ้องแก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,687,897.23 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 9,991,517.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อจำหน่ายและเป็นลูกค้าธนาคารโจทก์ สาขาบางนา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าเครื่องจักรที่ใช้แล้วสำหรับผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากบริษัทดิสโพเทค เอส.อาร์.แอล. แกลเลอเรีย ยูโรปา สกาแลค จำกัด แห่งประเทศสาธารณรัฐอิตาลีเป็นเงินจำนวน 523,700 ดอลลาร์สหรัฐ โดยให้โจทก์สั่งธนาคารบังคาคอมเมอร์ซิอาล อิตาเลียนา เอเจนเซีย ดิ แอบบิแอทกราสโส ตัวแทนของโจทก์ในประเทศดังกล่าวชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายเมื่อผู้ขายส่งสินค้าบรรทุกขึ้นระวางเรือแล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ. 1 โจทก์ตกลงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และหลังจากผู้ขายได้ดำเนินการจัดส่งสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อบรรทุกขึ้นระวางเรือแล้ว ธนาคารตัวแทนของโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขาย ซึ่งในการนี้จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 10 ฉบับ มอบให้แก่ผู้ขาย ผู้ขายได้โอนสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินให้ธนาคารตัวแทนของโจทก์ และต่อมาได้มีการโอนสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้รับเงิน แต่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้รวม 5 ฉบับ ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 6 รวมเป็นเงินจำนวน 261,850 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อได้ถูกขนส่งโดยทางเรือมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. 7 ไว้กับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารต่าง ๆ จากโจทก์นำไปรับสินค้าเครื่องจักรดังกล่าวออกจากท่าเรือกรุงเทพ แล้วนำไปติดตั้งในโรงงานของจำเลยที่ 1 สำหรับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยอมผูกพันตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินรวม 18,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกัน (รวม 2 ฉบับ) เอกสารหมาย จ. 8 และจำเลยที่ 1 ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6818 และ 11046 ตำบลหนองหงส์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ไว้กับโจทก์ในวงเงินจำนวน 9,000,000 บาทด้วย ต่อมาเมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ธนาคารตัวแทนของโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายโดยผิดเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 ระบุไว้ในคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่ ซึ่งในปัญหาข้อนี้โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์และลงนามในตั๋วเงิน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบเอกสารแล้ว เห็นว่าครบถ้วน และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสภาพหนี้แก่โจทก์แล้ว จึงต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นว่า ในเรื่องนี้มีข้อสัญญากันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ. 1 ว่า ให้ธนาคารตัวแทนของโจทก์จ่ายเงินจำนวน 523,700 ดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้ขาย โดยให้ผู้ขายยื่นตั๋วเงินซึ่งทำขึ้นเป็นคู่ฉบับสั่งจ่ายเงินตามใบแทรกเรื่องระยะเวลาการจ่ายเงินพร้อมด้วยเอกสารการส่งสินค้าบรรทุกขึ้นระวางเรือ คือ ใบกำกับสินค้า จำนวน 8 ชุด ใบตราส่งชนิดที่แจ้งว่าสินค้าบรรทุกขึ้นระวางเรือแล้วครบชุด 3 ฉบับ หรือเอกสารการขนส่งมากกว่าหนึ่งวิธีและสำเนาชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งทำในนามของโจทก์และใบกำกับหีบห่อจำนวน 5 ชุด กับมีเงื่อนไขพิเศษอีก 3 ข้อ ดังนี้ ข้อ 1 สินค้าจะต้องถูกขนส่งโดยบริษัท ซี แลนด์ เซอร์วิส จำกัด ข้อ 2 ผู้ขายจะต้องยื่นคุณลักษณะทางเทคนิคของอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ของสินค้า และข้อ 3 ผู้ขายจะต้องจัดเตรียมแบบระบบไฟฟ้าและคู่มือแนะนำการใช้งานรวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่มอบให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ได้ส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนางสาวศุภฤกษ์ โกวิทวิจารณ์ เจ้าหน้าที่ส่วนงานต่างประเทศธนาคารโจทก์สาขาบางนา และบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายอนันต์ แพทยานนท์ เจ้าหน้าที่พิธีการสินเชื่อธนาคารโจทก์ สาขาบางนา เป็นพยาน โดยได้รับอนุญาตจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และโจทก์ได้นำนางสาวศุภฤกษ์กับนายอนันต์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นดังกล่าว รวมทั้งตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามด้วย แต่ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้คงรับฟังได้แต่เพียงว่า หลังจากสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อได้ถูกขนส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ไปขอรับเอกสารการรับสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์เพื่อนำไปรับสินค้าออกจากท่าเรือ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. 7 ไว้กับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารดังกล่าวไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้ว โดยพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ธนาคารตัวแทนของโจทก์ได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ก่อนที่จะชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายไป และไม่สามารถยืนยันได้ว่าโจทก์ได้มอบเอกสารตามที่ระบุเป็นเงื่อนไขพิเศษในข้อ 2 และข้อ 3 ของคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยที่ 1 ไปในวันที่จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาทรัสต์รีซีทด้วยหรือไม่ ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า นายอนันต์ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า การที่ผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐอิตาลีนำเลอเตอร์ออฟเครดิตพร้อมเอกสารประกอบที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตไปแสดงต่อธนาคารตัวแทนของโจทก์เพื่อขอรับเงินค่าสินค้านั้น เอกสารประกอบที่ผู้ขายนำไปแสดงต่อธนาคารตัวแทนของโจทก์จะถูกบันทึกอยู่ในเอกสารการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าเอกสารฉบับดังกล่าวปัจจุบันนี้อยู่ที่ฝ่ายสินเชื่อต่างประเทศของธนาคารโจทก์ ซึ่งเช่นเดียวกันนางสาวศุภฤกษ์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามยืนยันว่า เมื่อนำเอกสารประกอบใดมาขอรับเงินบ้าง โดยแจ้งลงในแบบพิมพ์ของธนาคารตัวแทนของโจทก์ แล้วเอกสารฉบับนี้จะถูกส่งมาให้โจทก์ที่ประเทศไทย ดังนี้ จึงเชื่อได้ว่าโจทก์มีไว้ในครอบครองซึ่งพยานเอกสารที่เป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ขายได้มอบเอกสารใดบ้างแก่ธนาคารตัวแทนของโจทก์ แต่โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ในข้อนี้ก็มิได้นำสืบหรือส่งอ้างพยานเอกสารฉบับนี้ต่อศาลเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าธนาคารตัวแทนของโจทก์ในต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตตามที่โจทก์มอบหมายถูกต้องครบถ้วนแล้ว ความในข้อนี้จำเลยทั้งสามได้อ้างส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นพยาน โดยได้รับอนุญาตจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และจำเลยทั้งสามได้นำจำเลยที่ 3 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นดังกล่าวว่า โจทก์เป็นฝ่ายกระทำผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยโจทก์และธนาคารตัวแทนของโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐอิตาลีไม่ทำหน้าที่ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ถูกต้องครบถ้วน กล่าวคือ ธนาคารตัวแทนของโจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายไปโดยละเลยไม่ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ. 1 ให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ขายไม่ได้นำเอกสารแสดงคุณลักษณะทางเทคนิคของเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ทั้งปวงและเอกสารแสดงแผนผังระบบไฟฟ้าและคู่มือแนะนำการใช้งานรวมทั้งอะไหล่ตามที่ระบุเป็นเงื่อนไขพิเศษในคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมาแสดงต่อธนาคารตัวแทนของโจทก์ คงมีแต่เอกสารใบตราส่ง ใบกำกับสินค้า และใบกำกับหีบห่อตามเอกสารหมาย ล. 1 ถึง ล. 3 ตามลำดับ มาแสดงเท่านั้น ความบกพร่องละเลยของธนาคารตัวแทนของโจทก์ดัวกล่าวเป็นผลโดยตรงทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย โดยเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าและตรวจสอบโดยละเอียดแล้ว สินค้าที่ผู้ขายส่งมาให้จำเลยที่ 1 แตกต่างกับสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมากมายจนไม่สามารถนำมาประกอบเป็นเครื่องจักรให้มีสภาพสมบูรณ์ตามที่ปรากฏในใบแสดงภาพสินค้าเอกสารหมาย ล. 4 เพื่อผลิตสินค้าได้ เนื่องจากเอกสารทั้งสองชุดที่ผู้ขายไม่นำมาแสดงและธนาคารตัวแทนของโจทก์ละเลยไม่ตรวจสอบนั้นมีความสำคัญมากเพราะการมีเอกสารแสดงคุณลักษณะทางเทคนิคของเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นการแสดงว่าเครื่องจักรมีต้นกำเนิดมาจากโรงงานแห่งเดียวกันที่สามารถประกอบเป็นกระบวนการผลิตสินค้าผ้าอ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถทำเอกสารแสดงคุณลักษณะทางเทคนิคของเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้ และประการสำคัญเอกสารนี้จะทำให้จำเลยที่ 1 สามารถติดตั้งเครื่องจักรซึ่งมีจำนวนหลายเครื่องให้เป็นไปตามลำดับได้อย่างถูกต้องตามตำแหน่ง ส่วนผังระบบไฟฟ้าจะแสดงการเชื่อมวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเดินเครื่องจักร รวมทั้งแสดงกำลังไฟฟ้าของเครื่องจักรแต่ละชิ้นและขนาดของฟิวส์เป็นต้น ถ้าไม่มีผังระบบไฟฟ้าจากโรงงานผู้ผลิตแล้ว จะทำให้ไม่สามารถเดินระบบไฟฟ้าได้ถูกต้อง ซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้ นอกจากนี้ยังได้ความจากจำเลยที่ 3 อีกว่า หลังจากได้รับสินค้าเครื่องจักรที่สั่งซื้อมาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก่อเกียรติ บุญชูกุศล แห่งภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายเครก โอไบรอัน ผู้เชี่ยวชาญเครื่องกล เป็นผู้ตรวจสอบสภาพของเครื่องจักร ปรากฏว่าเครื่องจักรมีชิ้นส่วนอะไหล่ไม่ครบ และอะไหล่บางชิ้นไม่อาจระบุได้ว่าเป็นส่วนประกอบของอะไร อีกทั้งไม่มีข้อมูลจำเพาะของเครื่องจักรทำให้ยากแก่การประกอบเข้ากับเครื่องจักรอย่างถูกต้องได้ โดยนายก่อเกียรติผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องกลได้ทำรายงานการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรไว้ตามเอกสารหมาย ล. 8 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจดูแล้วก็ปรากฏว่า นายก่อเกียรติได้ทำรายงานไว้ว่าจากการสอบถามจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเอกสารประกอบเครื่องจักรตามที่ระบุไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว ได้รับแจ้งว่าไม่มีการส่งมาให้จำเลยที่ 1 ทำให้ยากอย่างยิ่งที่จะประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยตนเองได้อย่างสมบูรณ์และใช้งานเครื่องจักรได้อย่างถูกต้อง ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนายอนันต์พยานโจทก์ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มาแจ้งแก่โจทก์ว่า สินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อไม่สามารถนำมาใช้ได้ จึงต้องมาขอความร่วมมือจากโจทก์เพื่อดำเนินการฟ้องร้องผู้ขาย ซึ่งความในข้อนี้จำเลยทั้งสามนำสืบฟังได้อีกว่า จำเลยที่ 1 เคยทำหนังสือร้องเรียนการสั่งซื้อสินค้ารายนี้ไปยังอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ตามใจความที่ปรากฏในหนังสือโต้ตอบของอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงโรม เอกสารหมาย ล. 6 อีกด้วย แสดงว่า หลังจากตรวจพบข้อบกพร่องของเครื่องจักรแล้ว ฝ่ายจำเลยก็มิได้นิ่งนอนใจแต่ได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเอกสารอีก 2 ชุด ตามที่ระบุเป็นเงื่อนไขพิเศษในข้อ 2 และข้อ 3 ของคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ. 1 จึงน่าจะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกแต่งขึ้นมาเองโดยปราศจากมูลความจริงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างปฏิเสธการชำระหนี้ค่าสินค้าคืนให้แก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า ขณะทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. 7 หากเอกสารไม่ครบถ้วนจริง จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่จะต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้องและไม่รับสินค้า รวมทั้งไม่ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น ในข้อนี้จำเลยที่ 3 พยานจำเลยทั้งสามได้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง และเบิกความอธิบายว่า จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในฐานะต่อรองกับโจทก์และจำเป็นต้องลงชื่อในสัญญาทรัสต์รีซีทไปก่อน เพื่อจะได้นำเอกสารการขนส่งจากโจทก์ไปรับสินค้าออกมา โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าสินค้าที่ผู้ขายส่งมาจะมีความแตกต่างกับสินค้าที่สั่งซื้อไว้มาก หลังจากทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงทราบว่ามีเอกสารขาดไป 2 ชุด จำเลยที่ 3 ยังไม่อยากรับสินค้า แต่ทางโจทก์ก็แจ้งให้ทราบว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับสินค้าไปก่อน เนื่องจากจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้รับภาระในเรื่องค่าเก็บรักษาสินค้าต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเอง ซึ่งพอมีเหตุผลให้รับฟังได้ และแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เต็มใจยอมรับว่าเอกสารถูกต้อง แต่จำต้องยอมทำสัญญาทรัสต์รีซีทไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยอมทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จึงไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นเหตุผลให้รับฟังเป็นยุติว่า ขณะทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารตามที่ระบุในคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. 7 ก็ระบุแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารการส่งสินค้าตามรายละเอียดข้างท้าย แต่ท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวก็หาได้ระบุรายการเอกสารที่จำเลยที่ 1 รับไปไม่ หากโจทก์ได้มอบเอกสารตามที่จำเลยที่ 1 ระบุเป็นเงื่อนไขพิเศษในข้อ 2 และข้อ 3 ของคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไปถูกต้องครบถ้วนแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะไม่บันทึกไว้เป็นหลักฐานที่ท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท ซึ่งเป็นแบบพิมพ์สำหรับกรอกข้อความเสียให้ถูกต้อง ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า สินค้าเครื่องจักรที่ผู้ขายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าตามวัตถุประสงค์ที่สั่งซื้อได้ ซึ่งเหตุผลสำคัญประการหนึ่งน่าจะเกิดจากในการแสดงเอกสารเพื่อขอรับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ผู้ขายมิได้ส่งมอบเอกสารแสดงคุณลักษณะทางเทคนิคของอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์กับเอกสารแบบระบบไฟฟ้าและคู่มือแนะนำการใช้งานรวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่ให้แก่ธนาคารตัวแทนของโจทก์เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ในประเทศไทยตามเงื่อนไขแห่งเลตเตอร์ออฟเครดิต ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถประกอบติดตั้งส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักรเข้าด้วยกันและเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้ แม้โจทก์และธนาคารตัวแทนของโจทก์จะไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าในตู้สินค้า แต่ก็มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบเอกสารตามที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่ธนาคารตัวแทนของโจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายโดยไม่ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงเป็นการชำระเงินไปโดยผิดจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ตกลงด้วยโดยแท้ เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่จะต้องชดใช้เงินที่ธนาคารตัวแทนของโจทก์หรือโจทก์จ่ายไปโดยผิดจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาทรัสต์รีซีทมาด้วย แต่หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวก็มีมูลหนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ชำระเงินแก่ผู้ขายตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยตรง และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. 7 กับโจทก์ก็โดยมีวัตถุประสงค์ขอรับเอกสารการส่งสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยออกมาก่อน โดยยังไม่ชำระเงินค่าสินค้าคืนให้แก่โจทก์ในวันนั้น แต่จะชำระคืนให้ในภายหลังและมีข้อตกลงว่าสินค้านั้นยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ สัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. 7 จึงไม่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 6 และสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ. 7 ซึ่งมีมูลหนี้เดิมมาจากสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตด้วย รวมทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ. 9 ซึ่งเป็นหลักประกันของหนี้รายนี้ด้วย และเมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่จำต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำฟ้องแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. 8 ย่อมไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำฟ้องแก่โจทก์ด้วย สำหรับประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ๆ ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ ไม่จำต้องได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษานี้เปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share