คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3892/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกและฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญ คดีได้ความว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปขับไล่ให้ผู้เสียหายออกไปเสียจากขนำของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายขัดขืน จำเลยจึงใช้ปืนที่ติดตัวไปยิงขู่จนผู้เสียหายตกใจกลัวออกไปจากขนำ การกระทำของจำเลยมีเจตนาขู่เข็ญเพื่อขับไล่ผู้เสียหายให้ออกไปจากขนำเป็นข้อสำคัญ จึงเป็นความผิดกรรมเดียว อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีอีก ๓ คน มีอาวุธปืนติดตัวได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในขนำอันเป็นเคหสถานใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนางบ้วย ชูนุ่น ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปแล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงขู่เข็ญขับไล่ให้ผู้เสียหายลงจากขนำ ถ้าไม่ไปจะยิงให้ถึงแก่ความตาย ทำให้ผู้เสียหายเกิดความตกใจกลัว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕, ๘๓ และ ๓๙๒
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕, ๘๓ และ ๓๙๒ ฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธปืน จำคุก ๒ ปี ฐานทำให้ผู้อื่นตกใจกลัวจำคุก ๑๕ วัน รวมจำคุกคนละ ๒ ปี ๑๕ วัน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕(๒) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ให้จำคุกคนละ ๒ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสองและพวกอีก ๓ คนมีอาวุธปืนยาวทุกคนนั่งเรือหางยาวไปจอดที่หน้าขนำของผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ และพวก ๒ คน ขู่บังคับให้ผู้เสียหายลงไปจากขนำ หากไม่ลงจะยิง ผู้เสียหายไม่ยอมลง จำเลยที่ ๑ กับพวกได้ยิงปืนขู่เข้าไปในขนำ ผู้เสียหายตกใจกลัวได้พาบุตรและนางเสวียน คงแก้ว ลงจากขนำและเข้าไปหลบอยู่ในป่าเสม็ดหลังขนำดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองและพวกบุกรุกเข้าไปขับไล่ให้ผู้เสียหายออกไปเสียจากขนำของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายขัดขืน จำเลยที่ ๑ และพวกจึงใช้ปืนที่ติดตัวไปยิงขู่จนผู้เสียหายตกใจกลัวออกไปจากขนำ การกระทำของจำเลยทั้งสองและพวกมีเจตนาขู่เข็ญเพื่อขับไล่ผู้เสียหายให้ออกไปจากขนำเป็นข้อสำคัญ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน

Share