แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะนำหุ้นในส่วนที่เหลือของโจทก์ทั้งแปดสิบสามออกขายให้แก่บุคคลอื่นตามเงื่อนไขในบันทึกเสนอขายหุ้นแล้ว เนื่องจากถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งห้ามมิให้ทำธุรกรรมทางการเงินหรือค้าหลักทรัพย์อีกต่อไป ถือได้ว่าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภาระหรือมีหนี้ที่จะต้องนำหุ้นออกขายให้แก่บุคคลอื่นดังกล่าวกลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลงหรือยกเลิกเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ระบุในบันทึกการเสนอขายหุ้นโดยพลการ จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าหุ้น ค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์ดังกล่าว
ย่อยาว
คดีทั้งแปดสิบสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งแปดสิบสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 83 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งแปดสิบสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าหุ้นและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดสิบสามจำนวน 5,151,098.63… ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 35 ต่อปี ของต้นเงินค่าหุ้นโจทก์แต่ละคนนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2541 เว้นแต่โจทก์ที่ 83 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งแปดสิบสามโดยให้จำเลยทั้งสองรับหุ้นไปจากโจทก์ทั้งแปดสิบสามเพื่อจัดการตามสิทธิของจำเลยทั้งสองต่อไป
จำเลยทั้งสองทั้งแปดสิบสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดสิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 1 เสนอขายแก่พนักงาน ในราคาหุ้นละ 26 บาท โดยมีข้อจำกัดสิทธิเกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้นที่จองซื้อภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนด และหากพนักงานต้องพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนครบกำหนดสามปีนับแต่วันปิดการจองซื้อ รวมถึงพนักงานทดลองงานที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน กล่าวคือ ไม่ได้รับการพิจารณาจ้างต่อ และยังคงมีหุ้นของจำเลยที่ 1 เหลืออยู่ตามเงื่อนไขการจำหน่ายหุ้น พนักงานต้องยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำหุ้นจำนวนที่เหลือเฉพาะส่วนที่ยังไม่มีสิทธิจำหน่ายออกขายแก่บุคคลอื่นตามที่จำเลยที่ 1 เห็นสมควรโดยพนักงานจะได้รับเงินค่าหุ้นคืนเท่ากับราคาจองซื้อ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันพ้นสภาพการจ้าง โจทก์ทั้งแปดสิบสามตกลงจองซื้อหุ้นและชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรให้จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 เสนอแผนการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินหรือค้าหลักทรัพย์ได้ตามปกติ จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งแปดสิบสามด้วย โดยให้มีผลเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2540 คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินงานต่อไปได้ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ โจทก์ทั้งแปดสิบสามจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจองซื้อหุ้น แต่จำเลยทั้งสองไม่คืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดสิบสามว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินค่าหุ้นและค่าเสียหายรวมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งแปดสิบสามตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสามถูกเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสามปีนับแต่วันปิดการจองซื้อหุ้น และยังมีหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามซื้อไว้เหลืออยู่ตามเงื่อนไขการเสนอขายหุ้น จำเลยที่ 1 จึงมีภาระหรือมีหน้าที่จะต้องนำหุ้นดังกล่าวออกขายแก่บุคคลอื่นตามที่จำเลยที่ 1 เห็นสมควร โดยโจทก์ทั้งแปดสิบสามต้องยอมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าว แต่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าหุ้นคืนจากจำเลยที่ 1 เท่ากับราคาจองซื้อพร้อมดอกเบี้ยภายใน 1 เดือน นับแต่พ้นสภาพการจ้าง แต่การที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินหรือค้าหลักทรัพย์ได้ตามปกติ จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งแปดสิบสามด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 แสดงว่าในวันที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะนำหุ้นในส่วนที่เหลือของโจทก์ทั้งแปดสิบสามออกขายให้แก่บุคคลอื่นตามเงื่อนไขในบันทึกเสนอขายหุ้นแล้ว เนื่องจากถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งห้ามดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจที่จะทำธุรกรรมทางการเงินหรือค้าหลักทรัพย์ได้อีกต่อไปถือได้ว่าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภาระหรือมีหนี้ที่จะต้องนำหุ้นออกขายให้แก่บุคคลอื่นดังกล่าวกลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคสอง ให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัย เมื่อปรากฏว่าการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 คือการนำหุ้นที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามเหลืออยู่ในขณะถูกเลิกจ้างออกจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นเป็นการพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งห้ามไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินหรือค้าหลักทรัพย์อีกต่อไปดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง และถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดข้อตกลงหรือยกเลิกเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ระบุในบันทึกการเสนอขายหุ้น โดยพลการดังที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามอ้าง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันชำระเงินค่าหุ้นและค่าเสียหายรวมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งแปดสิบสามตามฟ้อง
พิพากษายืน.