คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4299/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 55 และ 76 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจเป็นเรื่องๆไป แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี หาได้เป็นบทบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย หรือลงโทษจำคุกจำเลยให้น้อยลงอีก หรือยกโทษจำคุก หรือปรับจำเลยแต่อย่างเดียวทุกกรณีเสมอไปไม่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันและเครื่องหมายห้ามเลี้ยวขวา จำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง, 22 (1), 152 ด้วย แม้โจทก์จะขอมาท้ายฟ้องให้ลงโทษตามมาตรา 152 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 21, 22 มาด้วยศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้เพราะไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลล่างทั้งสองยังมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวมาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78, 152, 157, 160
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายทรงธรรม พฤกษ์ตระการ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78, 157, 160 (ที่ถูก 160 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถประมาท (ที่ถูกฐานขับรถโดยประมาทและฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส) เป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูกต้อง ปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ด้วย) จำคุก 4 เดือน ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไปหยุดรถและให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 4 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน 5 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ไม่ได้ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และไม่ได้นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 มาใช้บังคับแก่จำเลย เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปี ตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจเป็นเรื่อง ๆ ไปแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี หาได้บังคับเป็นบทบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหรือลงโทษจำคุกจำเลยให้น้อยลงอีกหรือยกโทษจำคุกหรือปรับจำเลยแต่อย่างเดียวทุกกรณีเสมอไปไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันและเครื่องหมายห้ามเลี้ยวขวา ชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับสวนทางมา หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนี ทั้งปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยซึ่งจำเลยไม่คัดค้านว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่มีใบอนุญาตขับรถด้วย จำเลยอายุ 18 ปีเศษ และศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3 แสดงว่า จำเลยเป็นผู้มีการศึกษาย่อมรู้ผิดชอบชั่วดี แต่จำเลยยังจงใจกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหลายประการโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น จนเป็นอันตรายต่อผู้ร่วมใช้ทาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยได้นำเงินมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนให้แก่ผู้เสียหาย ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะลงโทษจำคุกจำเลยให้เบาลงอีกหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงควรปรานีให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นกักขังแทน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่า จำเลยขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันและเครื่องหมายห้ามเลี้ยวขวาจำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง, 22 (1), 152 ด้วย แม้โจทก์จะขอมาท้ายฟ้องให้ลงโทษตามมาตรา 152 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 21, 22 มาด้วย ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้เพราะไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แต่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวมาด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณากฎหมายอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง, 152 และมาตรา 22 (1), 152 อีกสองบทด้วย อันเป็นความผิดกรรมเดียวกันและเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดตามมาตรา 43 (4), 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนกำหนดโทษให้คงเดิม และให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน 5 วัน เป็นโทษกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share