แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยพิจารณาแล้วเชื่อว่าโจทก์กระทำผิดทางวินัยตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และมีคำสั่งลงโทษโจทก์ เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 84 กรณีหาได้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตราดังกล่าวไม่ และการที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีความผิดทางวินัยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์วินิจฉัยว่าโจทก์มีความผิดใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษโจทก์ไปตามความเหมาะสมกับสภาพความผิดเท่าที่อยู่ในอำนาจของจำเลยโดยชอบอย่างไรแล้ว ศาลไม่มีอำนาจจะเข้าไปชี้ขาดว่าโจทก์มีความผิดทางวินัยหรือไม่อีก ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์และมีคำสั่งลงโทษโจทก์ฐานผิดวินัย เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ความจริงโจทก์มิได้กระทำผิดวินัย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์มีอำนาจสั่งตั้งกรรมการสอบสวนได้ตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ จำเลยมิได้สั่งการโดยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ หรือสั่งการโดยประมาทเลินเล่อ คำสั่งของจำเลยที่สั่งลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ให้อำนาจไว้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ มีอำนาจสั่งลงโทษโจทก์เมื่อกระทำผิดวินัยได้ ที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ฐานผิดวินัยนั้น เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ใช้ดุลพินิจลงโทษโจทก์ตามที่เห็นสมควรตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิดต่อโจทก์จะต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายและไม่มีอำนาจกระทำได้ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ตามที่คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นควรลงโทษโจทก์ฐานปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเท่ากับจำเลยไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์สืบไม่สมฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น (พิพากษายกฟ้อง)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของจำเลยที่สั่งลงโทษโจทก์ทางวินัย ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ แต่โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยที่สั่งลงโทษโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนประเด็นเรื่องละเมิดนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด จำเลยปฏิบัติตามขั้นตอนแห่งกฎหมายและใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นต่อไป พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า องค์การค้าของคุรุสภามีหนังสือทวงหนี้ค่าหนังสือที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรสั่งซื้อ จำเลยซึ่งเป็นอธิการบดีให้รองอธิการบดีตรวจสอบว่ามีหนี้สินอยู่จริงหรือไม่และให้เสนอความเห็นต่อจำเลย รองอธิการบดีรายงานว่าโจทก์ได้ดำเนินการจัดซื้อและรับหนังสือไว้โดยมิได้ดำเนินการเบิกจ่ายให้เจ้าหนี้ตามระเบียบราชการ และหนังสือที่ได้รับมาบางส่วนขาดหายไปจากบัญชี โจทก์ควรเป็นผู้รับผิดชอบ และเห็นควรตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย จำเลยจึงมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นว่า โจทก์ผิดวินัย เห็นสมควรลงโทษทางวินัย ชั้นภาคทัณฑ์ จำเลยตรวจสอบมาตรฐานการลงโทษจากสำนักงานข้าราชการพลเรือนแล้ว สั่งลงโทษตัดเงินเดือน ๑๐ เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา ๒ เดือน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยพิจารณาแล้วเชื่อว่าโจทก์กระทำผิดทางวินัยตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และมีคำสั่งลงโทษโจทก์เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๘๔ กรณีหาได้เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าวไม่ และการที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีความผิดทางวินัยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ เมื่อจำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์วินิจฉัยว่าโจทก์มีความผิด ใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษโจทก์ไปตามความเหมาะสมกับสภาพความผิดเท่าที่อยู่ในอำนาจของจำเลยโดยชอบอย่างไรแล้ว ศาลไม่มีอำนาจจะเข้าไปชี้ขาดว่าโจทก์มีความผิดทางวินัยหรือไม่อีก ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฯลฯ
พิพากษายืน