แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารกับให้ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ก่อนคดีถึงที่สุด โจทก์ที่ 1 กับจำเลยทำสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งหมดโดยไม่ติดใจบังคับคดี ต่อมาโจทก์ที่ 1 นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย เพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมา ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยยื่นฟ้องและศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาระงับข้อพิพาทให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย แสดงว่าจำเลยเป็นฝ่ายที่ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้นจึงไม่อาจบังคับคดีตามคำพิพากษาที่โจทก์ที่ 1 สละแล้วได้อีกต่อไป
เมื่อการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์เป็นการกระทำของผู้เแทนโจทก์ที่ 1 โดยยืนยันว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยจริง หากเกิดความเสียหายผู้แทนโจทก์ที่ 1 ยินยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลไม่อนุญาตให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้อีกต่อไป โจทก์ที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยที่ ๑ ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ ๑ เรียกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ตามลำดับ กับให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลย
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวห้องเลขที่ ๔๑๑ และ ๔๑๒ ตามฟ้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑ เดือนละ ๑๖,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๕ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยกับบริวารจะออกไปจากตึกแถวดังกล่าว ให้ยกฟ้องสำนวนหลัง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๕ จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยกับบริวารจะออกจากตึกแถวพิพาท ถ้าจำเลยผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันไปทุกเดือนที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ก่อนคดีถึงที่สุด โจทก์ที่ ๑ กับจำเลยได้ทำสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยทั้งหมดโดยไม่ติดใจบังคับคดีที่ทั้งสองฝ่ายฟ้องร้องกัน รวมทั้งกรณีพิพาทในคดีนี้ด้วย หลังจากนั้นจำเลยถอนฎีกาที่ได้ยื่นไว้ต่อศาลตามข้อตกลง ส่วนโจทก์ไม่ได้ถอนฎีกาในคดีนี้
วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๔ โจทก์ที่ ๑ นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๒๙๖ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย เพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น จำเลยจึงได้ยื่นฟ้องโจทก์ที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้น โดยอ้างว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทและเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราว ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทและให้โจทก์ที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๕๑/๒๕๔๐
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๑ โจทก์ที่ ๑ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่โจทก์ที่ ๑ ได้นำยึดไว้ ต่อมาวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๑ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ถอนการบังคับคดีอ้างว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่มีสิทธิบังคับคดีตามสัญญาตกลงระงับข้อพิพาท วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์ ให้โจทก์ที่ ๑ เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย
โจทก์ที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีมีเหตุสมควรที่จะถอนการบังคับคดีตามคำร้องของจำเลยได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์ที่ ๑ ผิดสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทแล้ว จำเลยจึงไม่มีหนี้สินหรือภาระความผูกพันอื่นใดต่อโจทก์ที่ ๑ อีกต่อไป การที่โจทก์ที่ ๑ ไม่ยอมถอนการบังคับคดีและยังดำเนินการบังคับคดีจำเลยในคดีนี้จึงไม่ชอบ ศาลในคดีนี้ย่อมบังคับให้โจทก์ที่ ๑ ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่นำยึดโดยไม่ชอบได้ เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๕๑/๒๕๔๐ นั้น สืบเนื่องมาจากสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลย อันเป็นการทำสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยทั้งหมด รวมทั้งข้อพิพาทในคดีนี้ด้วย จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ใช้บังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐ โดยมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๒ เมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา จนถูกจำเลยยื่นฟ้องว่าผิดสัญญาตกลงระงับข้อพิพาท ซึ่งในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๕๑/๒๕๔๐ ให้โจทก์ที่ ๑ แพ้คดีและชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย แสดงว่าจำเลยเป็นฝ่ายที่ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อตกลงตามสัญญาตกลงระงับข้อพิพาท นั้น หากจำเลยปฏิบัติตามสัญญาแล้วมีผลผูกมัดโจทก์ที่ ๑ ว่าไม่ประสงค์จะบังคับคดีจำเลยอีกต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์ที่ ๑ กลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่อาจบังคับคดีตามคำพิพากษาที่โจทก์ที่ ๑ สละแล้วได้อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์ที่ ๑ ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยไม่มีการขายหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ ๑ นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ จึงเป็นการกระทำของโจทก์ที่ ๑ ไม่เกี่ยวกับจำเลย อีกทั้งตามรายงานการยึดก็ปรากฏว่าผู้แทนโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ชี้นำยึด โดยยืนยันว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยจริง หากเกิดความเสียหายผู้แทนโจทก์ที่ ๑ ยินยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลไม่อนุญาตให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้อีกต่อไป โจทก์ที่ ๑ จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๙ และตาราง ๕ ข้อ ๓ ท้าย ป.วิ.พ.
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑.