คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยนำเอาแต่เพียงราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางมาเป็นเกณฑ์ประเมิน โดยไม่ได้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาย่อมเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 8 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าเหตุที่ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากมีเหตุผลพิเศษอย่างไร หรือทรัพย์สินของโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนจำเลยที่ 1 ต้องกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษอย่างใด ดังนั้น การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การกำหนดค่ารายปีของจำเลยทั้งสองต้องสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งปัจจุบันคงมีเฉพาะหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี แม้ตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยให้อำนาจจำเลยที่ 1 กำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยเป็นตารางเมตรได้แต่ก็ยังกำหนดให้ต้องสำรวจจากที่ได้มีการให้เช่าจริง แบ่งตามประเภทและลักษณะของทรัพย์สินและทำเลที่ตั้งเป็นแนวทางประกอบการประเมินและจะต้องพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบอื่น ๆ อีกเช่นดัชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงภาระภาษีของราษฎรเป็นสำคัญ ดังนั้นที่จำเลยประเมินค่ารายปี ค่าภาษีให้โจทก์ต้องชำระยังขาดเหตุผลและไม่ปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยและมติคณะรัฐมนตรี
ราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปีแต่มิใช่เป็นราคาประเมินเด็ดขาด เพราะกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว การประเมินจำต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ให้กระทำได้และต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินรวมทั้งถังน้ำมันที่เป็นคลังน้ำมันของโจทก์ประจำปี 2541เป็นเงิน 1,875,600 บาท พร้อมกับแจ้งให้โจทก์ชำระภาษี 234,450 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินอีกครั้งหนึ่งต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดว่า คณะกรรมการพิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 ได้ชี้ขาดยืนตามการแจ้งประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะในปีภาษี 2538พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินรวมทั้งถังน้ำมันเป็นเงิน600,000 บาท ค่าภาษี 75,000 บาท ต่อมาปีภาษี 2539 และ 2540 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์เพิ่มขึ้นจากปีภาษี 2538เป็นเงิน 1,275,000 บาท คิดเป็นค่าภาษีเพิ่มขึ้น 159,450 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 212.60 ของปีภาษี 2538 โจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดสำหรับการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2539 และ 2540 ศาลพิพากษาว่าการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ยังกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับทรัพย์สินของโจทก์ สำหรับปีภาษี 2541 เพิ่มขึ้นร้อยละ 212.60 จากปีภาษี 2538 โดยไม่ให้เหตุผลหรือรายละเอียดในการเพิ่ม ทั้งนี้ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 กำหนดให้ใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการคำนวณขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาด และพิพากษาให้คิดค่ารายปีเป็นเงิน 672,253.21 บาท และค่าภาษี 84,031.65 บาทและให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษี 150,418.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ครบถ้วน

จำเลยทั้งสองให้การว่า การคำนวณโรงเรือนจะต้องคิดค่ารายปีก่อนโดยใช้ขนาดความกว้างคูณด้วยความยาวและคูณด้วยอัตราค่าภาษี ซึ่งเป็นอัตราที่จำเลยที่ 1กำหนดหลังจากได้คำนวณค่ารายปีแล้วโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนร้อยละ 15.5(ที่ถูกคือ 12.5) ของค่ารายปี ส่วนการคำนวณค่าภาษีที่ตั้งถังน้ำมันจะคิดจากอัตราการบรรจุขนาด 10,000 ลิตร ต่อ 200 บาท และต้องเสียภาษีร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี การประเมินของจำเลยเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จำเลยที่ 2ดำเนินการตามหน้าที่โดยสุจริต ที่ตั้งของโรงเรือนและถังน้ำมันของโจทก์เดิมอยู่ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันมาอยู่ในการดูแลของจำเลยที่มีการสร้างบริการสาธารณะไม่ว่าประปา ไฟฟ้า ถนน และพัฒนามากขึ้นเกี่ยวกับบริการทางด้านสาธารณสุข จึงไม่มีเหตุจะลดค่ารายปีเท่ากับปีภาษี 2540การประเมินภาษีและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 150,418.35 บาทแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนที่นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 63 หมู่ 4 ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์ใช้ประกอบกิจการเป็นที่ตั้งคลังน้ำมันโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 1,875,600 บาท และ 234,450 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ ประธานกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีคำชี้ขาดเห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงนำเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดไปชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้วมาฟ้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องให้พิจารณาการประเมินใหม่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การประเมินและการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 และมาตรา 18 กำหนดให้เจ้าของโรงเรือนและทรัพย์สินจะต้องชำระภาษี ตามค่ารายปีของทรัพย์สินและค่ารายปีหมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีหาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของดำเนินกิจการเอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ โดยนำเอาแต่เพียงราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางมาเป็นเกณฑ์ประเมิน โดยไม่ได้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาย่อมเป็นการไม่ชอบ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าเหตุที่ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากมีเหตุผลพิเศษอย่างไร หรือทรัพย์สินของโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนจำเลยที่ 1 ต้องกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษอย่างใด ดังนั้น การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ในปีภาษี2539 ถึง 2541 จำเลยที่ 1 ขยายพื้นที่ออกไป จำเลยได้ทำถนน บริการไฟฟ้า การเก็บขยะการดูแลด้านสาธารณสุขต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จำเลยทั้งสองจึงต้องเอาเกณฑ์ราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร ประกอบกับพื้นที่ทำเลที่ตั้งภาพถ่ายและข้อมูลการตลาดจังหวัดสุราษฎร์ธานีประจำปี 2540 ที่จำเลยพัฒนาและให้บริการสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นเกณฑ์ในการประเมินค่ารายปีนั้น เห็นว่า การกำหนดค่ารายปีของจำเลยทั้งสองต้องสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งปัจจุบันคงมีเฉพาะหนังสือของกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุด ที่ มท.0307/ว.2393 ลงวันที่ 10 กันยายน 2536 ที่ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี แต่นางยี่สุ่นอินทร์จันทร์ นิติกรระดับ 4 พยานจำเลยเบิกความว่าไม่เคยพบเห็นหรืออ่านหนังสือฉบับดังกล่าว แม้ตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยจะให้อำนาจจำเลยที่ 1 กำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยเป็นตารางเมตรได้ดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง แต่ก็ยังกำหนดให้ต้องสำรวจจากที่ได้มีการให้เช่าจริง แบ่งตามประเภทและลักษณะของทรัพย์สินและทำเลที่ตั้งเป็นแนวทางประกอบการประเมิน และจะต้องพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบอื่น ๆ อีกเช่นดัชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงภาระภาษีของราษฎรเป็นสำคัญ ดังนั้น ที่จำเลยประเมินค่ารายปี ค่าภาษีให้โจทก์ต้องชำระ ยังขาดเหตุผลและไม่ปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยและมติคณะรัฐมนตรีส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ผู้ประกอบการอื่น ๆ ซึ่งมีทำเลที่ตั้งในเขตเทศบาล ยอมชำระภาษีให้จำเลยที่ 1 โดยไม่อุทธรณ์คัดค้านนั้น เห็นว่า ราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปี แต่มิใช่เป็นราคาประเมินเด็ดขาดเพราะกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว การประเมินจำต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ให้กระทำได้ และต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share