คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรของผู้ตายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 50(3) มิใช่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตลอดไปจนกว่าจะครบกำหนดตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน แต่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเฉพาะในระหว่างที่ตนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด หากขาดคุณสมบัติดังกล่าวแล้วแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้จะมิได้กำหนดให้ส่วนแบ่งของบุตรของผู้ตายเป็นอันยุติหรือเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุตามที่ระบุไว้ในข้อ 50 วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้ส่วนแบ่งของผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเป็นอันยุติก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นอันยุติไปโดยผลของข้อ 50(3) เมื่อส.บุตรของผู้ตายมีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเงินทดแทนจากจำเลย สิทธิเรียกร้องของ ส.จึงเป็นอันยุติ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ ส. และประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดให้สิทธิของ ส.โอนหรือตกทอดไปยังโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นภรรยาและบุตรอีกผู้หนึ่งของผู้ตาย หรือมิได้กำหนดให้จำเลยต้องนำเงินทดแทนอันเป็นส่วนของ ส. มาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินทดแทนอันเป็นส่วนของ ส.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นภรรยาของนายจรูญและเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ ๒ นายจรูญซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลย จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองและนายสำเริงตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน หลังจากวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๖ จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินทดแทนส่วนของนายสำเริงโดยอ้างว่านายสำเริงมีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่ ซึ่งเงินส่วนของนายสำเริงนี้จำเลยจะต้องนำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า นายสำเริงหมดสิทธิได้รับเงินทดแทนแล้ว กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยต้องนำเงินทดแทนส่วนของทายาทที่หมดสิทธิรับมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่ทายาทอื่น จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนส่วนของนายสำเริงให้โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนส่วนของนายสำเริงและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๕๐ วรรคแรก ซึ่งระบุว่า ‘เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ (๑) บิดามารดา (๒) สามีหรือภรรยา (๓) บุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีแล้ว กำลังศึกษาอยู่ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ (๔)…….’ นั้น เป็นบทกำหนดประเภทของทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง โดยเฉพาะบุตรของผู้ตายตามข้อ ๕๐(๓) มิใช่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตลอดไปจนกว่าจะครบกำหนดตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน แต่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเฉพาะในระหว่างที่ตนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นกรณีที่บุตรของผู้ตายขาดคุณสมบัติซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนต่อไปแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวจะมิได้กำหนดให้ส่วนแบ่งของบุตรของผู้ตายเป็นอันยุติหรือเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุหนึ่งเหตุใดตามที่ระบุไว้ในข้อ ๕๐ วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้ส่วนแบ่งของผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเป็นอันยุติก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นอันยุติไปโดยผลของข้อ ๕๐(๓) นายจ้างไม่ต้องรับผิดต่อบุตรของผู้ตาย เมื่อนายสำเริงบุตรของผู้ตายมีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่ ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเงินทดแทนจากจำเลย สิทธิเรียกร้องของนายสำเริงจึงเป็นอันยุติ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่นายสำเริง และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดให้สิทธิของนายสำเริงโอนหรือตกทอดไปยังโจทก์ทั้งสองหรือมิได้กำหนดให้จำเลยต้องนำเงินทดแทนอันเป็นส่วนของนายสำเริงมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินทดแทนอันเป็นส่วนของนายสำเริง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

Share