คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับธนาคารสำนักงานใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ แม้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 จะบังคับให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศต้องมีทรัพย์สินในประเทศไทย ให้ทำงบดุลต่างหาก ก็เป็นการบังคับไว้เพื่อให้ธนาคารดังกล่าวมีความมั่นคงในการดำเนินกิจการในประเทศไทย หาใช่รับรองให้มีสภาพบุคคลเป็นเอกเทศจากสำนักงานใหญ่ไม่
ธนาคารสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศหรือสาขาของธนาคารในต่างประเทศส่งเงินที่รับฝากจากลูกค้ามาลงทุนในธนาคารสาขาในประเทศไทย เงินนั้นเป็นสังกมะทรัพย์เมื่อรับฝากจากลูกค้าแล้วก็ย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์ของธนาคารสำนักงานใหญ่หรือสาขา ถือได้ว่าสำนักงานใหญ่หรือสาขานั้นเป็นผู้ส่งมาลงทุน แม้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศมีพันธะผูกพันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากดอกเบี้ยนั้นก็เป็นรายจ่ายโดยแท้ของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ มิใช่รายจ่ายโดยตรงของธนาคารสาขาในประเทศไทยการที่ธนาคารสาขาในประเทศไทยส่งดอกเบี้ยไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ จึงเป็นรายจ่ายเพื่อผ่อนภาระของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง และถือได้ว่าเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเอง ตามมาตรา 65 ตรี (9)(10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา 65 ทวิ มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ซึ่งถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกำไร เมื่อธนาคารสาขาในประเทศไทยส่งเงินดังกล่าวออกไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศก็เท่ากับเป็นการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ อีกส่วนหนึ่งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการธนาคารโดยเป็นสาขาของธนาคารชื่อเดียวกัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศ เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ทำการประเมินภาษีเงินได้โจทก์และมีคำสั่งแจ้งให้โจทก์ทราบว่า การที่โจทก์เป็นสาขาของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ ได้ส่งเงินค่าดอกเบี้ยไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ ถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามต้องนำเงินค่าดอกเบี้ยนั้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิ ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น และการที่โจทก์ส่งดอกเบี้ยดังกล่าวออกไป ถือว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้อีก โจทก์เห็นว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินภาษีไม่ถูกต้อง จึงอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ วินิจฉัยยกอุทธรณ์โจทก์ ซึ่งโจทก์ไม่เห็นชอบด้วย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ดังกล่าว ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์และยกเลิกการประเมินภาษี

จำเลยทั้งห้าให้การว่า คำสั่งประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ในวันชี้สองสถานและวันนัดพร้อม คู่ความรับกันว่า เงินที่จำเลยเรียกเก็บภาษีเงินได้นี้เป็นเงินดอกเบี้ยมียอดจำนวนเงินตามฟ้องและจำเลยไม่คัดค้านในข้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นดอกเบี้ยที่ส่งไปให้ธนาคารสำนักงานใหญ่หรือสาขาต่างประเทศที่ส่งเงินรับฝากจากลูกค้าต่างประเทศมาให้กู้ในประเทศไทย ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์แต่ละสำนวนเป็นธนาคารสาขาของธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับธนาคารสำนักงานใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ แม้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 จะบังคับให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มาประกอบการธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ต้องมีสินทรัพย์ในประเทศไทยให้ทำงบดุลต่างหาก ก็ล้วนแต่เป็นการบังคับไว้เพื่อให้ธนาคารสาขาดังกล่าวมีความมั่นคงในการดำเนินกิจการในประเทศไทย หาใช่รับรองให้มีสภาพบุคคลเป็นเอกเทศจากสำนักงานใหญ่ไม่ สำหรับเงินดอกเบี้ยที่โจทก์ แต่ละสำนวนส่งออกไปใช้ให้แก่สำนักงานใหญ่ หรือสาขาของธนาคารในต่างประเทศนั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นเงินเกิดจากต้นเงินที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาของธนาคารในต่างประเทศรับฝากจากลูกค้า แต่เงินนั้นเป็นสังกมะทรัพย์เมื่อรับฝากเงินจากลูกค้าแล้ว เงินนั้นย่อมกลายเป็นเงินหรือทรัพย์ของธนาคารสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ เมื่อส่งมาลงทุนในประเทศไทยย่อมถือได้ว่าเป็นทรัพย์ของสำนักงานใหญ่หรือสาขานั้นส่งมาลงทุนนั่นเอง และโจทก์ก็ยอมรับแล้วว่าสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศมีพันธะผูกพันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝาก จึงเห็นได้ว่าดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายดังกล่าวแล้วเป็นรายจ่ายโดยแท้ของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ มิใช่รายจ่ายโดยตรงของโจทก์หรือธนาคารสาขาในประเทศไทย การที่โจทก์ส่งดอกเบี้ยไปให้ เห็นได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อผ่อนภาระของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและถือได้ว่าเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเอง ตามมาตรา 65 ตรี(9)(1)แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา 65 ทวิ มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกำไร เมื่อโจทก์ส่งออกไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ ก็เท่ากับเป็นการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิอีกส่วนหนึ่งด้วย หาเป็นการเก็บภาษีซ้อนไม่

พิพากษายืน

Share