แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 20 วรรคสามที่บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้น ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบ……….” นั้น เห็นได้ว่าการขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยผิดปกติเป็นของแผ่นดินได้ เฉพาะกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (คณะกรรมการ ป.ป.ป.) วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติเท่านั้น และให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยเสียก่อนที่จะมีคำสั่ง มิได้หมายความว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นผิดปกติเป็นที่สุด ศาลจะต้องสั่งให้ ทรัพย์สินของผู้นั้นเป็นของแผ่นดินและวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการแปลกฎหมายห้ามมิให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ป. อันเป็นองค์กรฝ่ายบริหาร ย่อมไม่ชอบ และหากฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขั้นโดยผิดปกติแล้ว ศาลก็ไม่อาจสั่งให้ทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดินได้ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นหาต้องพิสูจน์ว่าได้ทรัพย์สินมาในทางที่ชอบไม่
ทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้นหมายถึงทรัพย์สินที่มีจำนวนมากผิดปกติ เมื่อคำนึงถึงฐานะและรายได้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเจ้าของทรีพย์สินนั้น ซึ่งอาจได้มาในทางที่ชอบและไม่ชอบหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ศาลจะสั่งให้เป็นของแผ่นดินได้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาในทางที่ไม่ชอบ การสั่งว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์ที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติหรือไม่ จึงไม่ใช่พิจารณาจากเหตุที่ทรัพย์สินนั้นได้มาในทางที่ชอบหรือไม่ชอบแต่อย่างใด
พนักงานอัยการผู้ร้องอ้างว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับโอนหุ้นจากบริษัทการยินแอร์ – สยาม จำกัด จำนวน 198,000 หุ้น มีมูลค่าตามที่จดทะเบียนไว้ หุ้นละ 100 บาท ถือว่าผู้คัดค้านมีทรัพย์สินราคา 19,800,000 บาท อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยขึ้นผิดปกติ ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าขณะที่รับโอนหุ้นมานั้น หุ้นทั้งหมดไม่มีมูลค่า มีราคาไม่เกิน 2 บาท ดังนี้ เมื่อพยานหลักฐานของผู้คัดค้านฟังได้ว่าหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาถึงหุ้นละ 100 บาท ตามมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ แต่จะมีราคาเท่าใด ผู้ร้องไม่นำสืบให้ปรากฏ กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพน์สินที่ร่ำรวยขึ้นผิดปกติดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ศาลไม่อาจสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นของแผ่นดินได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘ ขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นของแผ่นดิน โดยกล่าวว่าเดิมผู้คัดค้านรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๐๔ จนถึง วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๗ ได้เลื่อนเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ต่อมาถูกสั่งพักราชการเพราะมีผู้ร้องเรียนว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยมิชอบแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตน มีเงินเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการ ป.ป.ป.พิจารณาเห็นว่าผู้คัดค้านมีพฤติการณ์แสดงว่าร่ำรวยผิดปกติจึงสอบสวนและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตน ผลการสอบสวนได้ความว่าเมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๐ ถึงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๙ (วันยื่นรายการแสดงทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป.) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผู้คัดค้านรับราชการในสำนักงบประมาณ ผู้คัดค้านมีรายได้รวมทั้งสิ้น ๗,๐๒๐,๙๙๓.๙๑ บาท มีหลักทรัพย์ที่ได้รับมาคือเงินในบัญชีธนาคาร ค่าซื้อที่ดิน และค่าซื้อหุ้น รวมเป็นเงิน ๓๐ ล้านบาทเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ป. เห็นว่าผู้คัดค้านมีหลักทรัพย์ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่มากกว่ารายได้ซึ่งยังมิได้หักค่าใช้จ่ายอยู่ถึง ๒๓,๐๘๗,๕๑๑.๒๘ แสดงว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติ และผู้คัดค้านไม่สามารถแสดงได้ว่าตนได้ทรัพย์สินมาในทางที่ชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ป. โดยคะแนนเสียงเกินกว่าสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมดมีมติร่วมกันว่าบรรดาทรัพย์สินของผู้คัดค้านรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๐,๑๐๘,๕๐๕.๑๙ บาทเป็นทรัพย์สินที่คิดด้านร่ำรวยขึ้นผิดปกติขอให้ผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความและมีคำสั่งว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านได้แก่เงินในบัญชีธนาคารที่ดิน โฉนด ต่าง ๆ และหุ้นในบริษัทต่าง ๆ รวมเป็นเงิน ๓๐,๑๐๘,๕๐๕.๑๙ บาท เป็นของแผ่นดินและให้ผู้คัดค้านโอนทรัพย์สินต่างๆ ดังกล่าวนั้นให้แก่กระทรวงการคลัง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดด้านไม่เคยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยมิชอบแวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และไม่ได้ร่ำรวยขึ้นโดยทางไม่ชอบ ทรัพย์ที่ผู้ร้องได้มานั้นมาจากสินส่วนตัวของภริยาและจากบิดามารดาของภริยา ภริยาของผู้คัดค้านประกอบกิจการค้า เมื่อภริยาของผู้คัดค้านถึงแก่กรรม ผู้คัดค้านและบุตรได้รับมรดกและทำกิจการค้าสืบเนื่องต่อมาโดยเฉพาะเกี่ยวกับบริษัทการบินแอร์-สยาม จำกัดนั้น ผู้คัดค้านได้เข้าไปช่วยดำเนินการโดยเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัท ได้รับโอนหุ้นเป็นส่วนตัว ๑๙๘,๐๐๐ หุ้นหุ้นละ ๑๐๐ บาท ซึ่งหุ้นทั้งหมดไม่มีมูลค่ามีราคาไม่เกิน ๒ บาท เพราะขณะนั้นบริษัทการบินแอร์-สยาม จำกัดมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนการเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทอื่นนั้น ผู้คัดค้านได้กระทำไปโดยชอบธรรมโดยสุจริต ผู้คัดค้านมีรายได้โดยชอบไม่น้อยกว่าหลักทรัพย์ จึงมิได้ร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการสอบสวนที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าผู้คัดค้านไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ หลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ป.มีเหตุผลที่ไม่แน่ชัดและผู้คัดค้านไม่มีความผิด ผู้คัดค้านจึงได้กลับเข้ารับราชการตามเดิม นอกจากนี้ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยสั่งว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นของแผ่นดินเพราะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นบทกฎหมายในทางอาญา การที่ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลใดเป็นของแผ่นดินตามมาตรา ๒๐ นั้น ถือได้ว่าเป็นการลงโทษาริบทรัพย์ อันเป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่ง จึงไม่มีผลย้อนหลังไปถึงทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ได้มาโดยชอบก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ทรัพย์สิน ๓ รายการเป็นเงิน ๒๖,๘๖๔,๑๒๐.๘๙ บาท ตกเป็นของแผ่นดินเป็นเงิน ๑๙,๔๓๖,๔๗๐.๐๒ บาท โดยให้ทรัพย์สินแต่ละรายการตกเป็นของแผ่นดินในอัตราส่วน ๑๙,๔๓๖,๔๗๐.๐๒ ส่วนต่อทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งหมด ๒๖,๘๖๔,๑๒๐.๘๙ ส่วน โดยให้ผู้คัดค้านโอนเงินฝากในบัญชีธนาคารการจดทะเบียนโอนและส่งมอบที่ดิน กับให้ผู้คักค้านโอน จดแจ้งการโอนและส่งมอบใบหุ้นของบริษัทรวม ๑๑ บริษัทให้แก่กระทรวงการคลัง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้องขอ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า ผู้คัดค้านเริ่มรับราชการที่กองงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๒ ทางราชการบกฐานะกองงบประมาณขึ้นเป็นสำนักงบประมาณ และให้ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้คัดค้านคงรับราชการที่สำนักงบประมาณเรื่อยมา และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ และ พ.ศ.๒๕๑๗ ตามลำดับ ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ มีผู้ทำบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนว่าผู้คัดค้านใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ ผู้คัดค้านถูกสั่งพักราชการเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (คณะกรรมการ ป.ป.ป.) ดำเนินการ คณะกรรมการ ป.ป.ป.มีมติให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘ โดยให้ผู้คัดค้านยื่นแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๐ ถึงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นวันยื่นแบบดังกล่าว และได้แต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจได้รายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ป.ทราบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ คณะกรรมการ ป.ป.ป.ประชุมพิจารณาแล้วมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่าสองในสามว่าผู้คัดค้านผิดวินัยและร่ำรวยผิดปกติ จึงส่งเรื่องให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการสวบสวนทางวินัยแก่ผู้คัดค้าน แล้วส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้วินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านได้รับการโอนหุ้นจากบริษัทการบินแอร์-สยาม จำกัด จำนวน ๑๙๘,๐๐๐ หุ้น มูลค่าตามที่จดทะเบียนหุ้นละ ๑๐๐ บาท ต่อมาบริษัทการบินแอร์ – สยาม จำกัด ถูกศาลพิพากษาล้มละลายแล้ว คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้คัดค้านร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติตามความของมาตรา ๒๐ แห่งหระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘ อันศาลจะต้องสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นของแผ่นดินหรือไม่ ในปัญหานี้ผู้ร้องฎีกาขึ้นมาประการแรกเป็นข้อกฎหมายว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ป.ได้ลงมติโดยคะแนนเสียงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติแล้ว กรณีฟังเป็นยุติตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ศาลจะต้องวินิจฉัยสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ผู้คัดค้านจะพิสูจน์ได้ว่าได้ทรัพย์สินมาในทางที่ชอบฉะนั้น ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาว่าผู้คัดค้านมิได้ร่ำรวยผิดปกติไม่ได้ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาพิเคราะห์ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้แล้ว เห็นว่า มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘ ได้กำหนดมาตราการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยผิดปกติไว้ ๒ ประการ คือการลงโทษทางวินัยประการหนึ่ง และการให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินเป็นของแผ่นดินอีกประการหนึ่ง ถ้าจะให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของผู้นั้นเป็นของแผ่นดิน มาตรา ๒๐ วรรคสามบัญญัติว่า ทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้น ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินเป็นของแผ่นดิน จะเห็นได้ว่าหากจะลงโทษทางวินัย คณะกรรมการ ป.ป.ป. จะต้องสอบสวนให้ได้ความว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติ แต่จะขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของผู้นั้นเป็นของแผ่นดินได้เฉพาะที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินทีร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติเท่านั้น หาใช่ว่าเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ป.ลงมติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติแล้ว ศาลจะต้องสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นของแผ่นดินดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ นอกจากนั้นบทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็มิได้มีความหมายว่าคำวินิจฉัยของกรรมการ ป.ป.ป. ที่ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติเป็นที่สุด หรือเป็นยุติ อันศาลจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะนอกจากบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีถ้อยคำให้แปลความหมายเช่นนั้นแล้ว มาตรา ๒๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวกลับบัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้น ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบ…………..” ถ้อยคำในบทบัญญัติดังกล่าวที่ว่า “ให้ศาลวินิจฉัยสั่ง” นั้น แสดงว่าให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยเสียก่อนที่จะมีคำสั่ง มิใช่ว่าให้ศาลสั่งไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ป. โดยศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่รำรวยขึ้นโดยผิดปกติหรือไม่ การแปลกฎหมายดังนั้นเท่ากับเป็นการห้ามมิให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหาร ย่อมไม่เป็นการสอดคล้องกับการปกครองระบบประชาธิปไตยของประเทศไทย ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกายังเห็นต่อไปอีกว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นของแผ่นดินได้ ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติ และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไม่อาจพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าได้ทรัพย์สินในทางที่ชอบเท่านั้น หากฟังไม่ได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติเสียแต่ในเบื้องแรกแล้ว ศาลก็ไม่อาจสั่งให้ทรัพย์นั้นเป็นของแผ่นดินได้ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นหาต้องพิสูจน์ว่าได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบไม่ ทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้นย่อมหมายถึงทรัพย์สินที่มีจำนวนมากผิดปกติเมื่อคำนึงถึงฐานะและรายได้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั่นเอง ทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติจึงอาจเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในทางที่ชอบศาลก็ไม่อาจสั่งให้เป็นของแผ่นดิน คงสั่งได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาในทางที่ไม่ชอบ การที่จะสั่งว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติหรือไม่ จึงหาใช่เพราะเหตุที่ทรัพย์สินนั้นได้ในทางที่ชอบหรือมิชอบแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านได้ทรัพย์สินมาโดยชอบมีจำนวนมากกว่าทรัพย์สินทั้งหมดของผู้คัดค้าน จึงฟังว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติไม่ได้นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง
สำหรับปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือไม่นั้น ผู้ร้องฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขึ้นมาเฉพาะทรัพย์สินของผู้คัดค้านส่วนที่เป็นหุ้นบริษัทการบินแอร์ – สยาม จำกัด ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนใหญ่ของผู้คัดค้านเท่านั้น ผู้ร้องมิได้ฎีกาเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านขึ้นมาโดยแจ้งชัด จึงต้องถือว่าคดีมีประเด็นในชั้นนี้เฉพาะหุ้นของบริษัทการบินแอร์ – สยาม จำกัด เท่านั้นว่า หุ้นดังกล่าวจะถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าที่ผู้ร้องถือว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติก็เพราะผู้คัดค้านได้รับโอนหุ้นดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าตามที่จดทะเบียนไว้หุ้นละ ๑๐๐ บาท จำนวน ๑๙๘,๐๐๐ หุ้น จึงถือว่ามีราคา ๑๙,๘๐๐,๐๐๐ บาท แต่ผู้ตัดค้านได้โต้แย้งเรื่องราคาหุ้นนี้มาแต่ต้นว่าหุ้นทั้งหมดไม่มีมูลค่า มีราคาไม่เกิน ๒ บาท เพราะขณะที่รับโอนหุ้นมาบริษัทการบินแอร์ – สยาม จำกัด มีหนี้สินล้นพ้นตัว ปัญหาจึงอยู่ที่หุ้นดังกล่าวมีค่าหรือราคาดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือไม่ ผู้ร้องหาได้นำสืบว่าหุ้นดังกล่าวมีราคาที่แท้จริงอย่างใดไม่ฝ่ายผู้คัดค้านนำสืบฟังได้ว่าหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาตามมูลค่าที่จดทะเบียนไว้ จึงไม่อาจฟังได้ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ศาลไม่อาจสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านเป็นของแผ่นดินได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านใด” หุ้นดังกล่าวมาในทางที่ชอบหรือไม่ และข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านในคำแก้ฎีกาฟังขึ้นหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นท้องด้วยในผลฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน