คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้านายหรือลูกจ้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยื่นขอเรียกร้องเพื่อกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 วรรคแรก บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีข้อยกเว้นว่าการยื่นขอเรียกร้องสามารถทำเป็นข้อเสนอในการเจรจาได้ เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องได้ถอนข้อเรียกร้องของฝ่ายตน ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องย่อมระงับไป สิทธิของนายจ้างที่จะปิดงานย่อมระงับไปด้วย นายจ้างจะอ้างเหตุว่าในระหว่างเจรจาต่อรองได้เสนอให้อายุสัญญาข้อตกลงมีกำหนด 2 ปี เป็นการยื่นข้อเรียกร้องของนายจ้างแล้วไม่ได้ เพราะไม่ได้ดำเนินการดังที่กฎหมายบัญญัติไว้
ข้อพิพากแรงงานระงับไปโดยลูกจ้างถอนข้อเรียกร้องแล้วนายจ้างยังเปิดบริษัทดำเนินกิจการอยู่ตลอดมา แต่บ่ายเบี่ยงปิดงานไม่ยอมรับเฉพาะลูกจ้างซึ่งยื่นข้อเรียกร้องเข้าทำงาน เมื่อสัญญาแรงงานยังมีอยู่นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ยังปิดงานเฉพาะลูกจ้างดังกล่าวนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง ๔๙ คน เป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลยและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โจทก์และลูกจ้างอื่นได้ยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลย จำเลยรับข้อเรียกร้องและมีการเจรจากัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้แทนลูกจ้างแจ้งพนักงานแรงงานมาประนอมข้อพิพาท จำเลยปฏิเสธ และแจ้งข้อปิดงานเฉพาะผู้แทนลูกจ้างและพนักงานผู้ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงาน กลับรับบุคคลภายนอกเข้าทำงานแทน ผู้แทนลูกจ้างได้ทำหนังสือขอถอนข้อเรียกร้องทั้งหมดขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยปฏิเสธ การที่โจทก์ถอนข้อเรียกร้อง จำเลยต้องงดการปิดงาน การที่จำเลยปิดงานต่อไปเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์และลูกจ้างอีกบางส่วนยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและไม่สามารถตกลงกันได้จำเลยจึงใช้สิทธิปิดงาน โจทก์ทุกคนยังเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ ๋ไม่เคยจ้างบุคคลภายนอกมาเป็นลูกจ้างแทนโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินใดๆตามฟ้องแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างนับจากวันปิดงานจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานและค่าจ้างค้างจ่ายคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทรธ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่นายจ้างหรือลูกจ้างจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่ออีกฝ่ายหนึ่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ วรรคแรกบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ไม่มีการยกเว้นว่าการยื่นขอเรียกร้องสามารถทำเป็นข้อเสนอในการเจรจาได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องได้ถอนข้อเรียกร้องของฝ่ายตน ข้อเรียกร้องของฝ่ายโจทก์จึงหมดสิ้นไป ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องย่อมระงับไป สิทธิของจำเลยในอันที่จะปิดงานย่อมระงับตามไปด้วย จำเลยจะอ้างเหตุว่าได้มีการเสนอในการเจรจาต่อรองโดยเพียงแต่ร่างสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเตรียมไว้ให้โจทก์ลงชื่อในวันกลับเข้าทำงานตามที่เสนอให้อายุของสัญญาข้อตกลงมีกำหนด ๒ ปีหาได้ไม ่เมื่อจำเลยไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นข้อเรียกร้องดังที่กฎหมายบัญญัติไว้การปิดงานของจำเลยจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงานทั้งที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยพร้อมที่จะทำงานให้จำเลย
ข้อพิพาทแรงงานระงับไปโดยโจทก์ถอนข้อเรียกร้องแล้วจำเลยยังบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับโจทก์เข้าทำงาน โดยที่บริษัทจำเลยยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ตลอดมา ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป ฉะนั้น การที่จำเลยจงใจปิดงานต่อมาเฉพาะโจทก์ซึ่งยื่นข้อเรียกร้องจำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดระยะเวลาที่ยังปิดงานเฉพาะโจทก์
พิพากษายืน

Share