คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 236/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะผู้สืบสันดานคือเป็นหลานจำเลยจำเลยอยู่ในฐานะเป็นยายย่อมเป็นบุพการีของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยจึงเป็นการฟ้องบุพการี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย สำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบุตรเขยไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานของจำเลย จำเลยไม่ได้เป็นบุพการีของโจทก์ที่ 1 ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องห้ามทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยในที่พิพาทย่อมมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ แต่งงานกับนางเปนบุตรของนายกองและจำเลย มีบุตร ๑ คน คือโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๑ กับนางเปนได้ช่วยกันหักร้างถางป่าทำเป็นนา โจทก์ที่ ๒ ได้ช่วยถากถางทำเป็นนาต่อมาได้ครอบครองทำกินเป็นส่วนสัดมาเป็นเวลาหลายปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ได้แจ้ง ส.ค.๑ ไว้ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๒๖ โจทก์ไปร้องขอออก น.ส.๓ จำเลยคัดค้านอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลย ขอให้สั่งว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่เคยแต่งงานอยู่กินกับนางเปนหรือเบน โจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่บุตรนางเปนหรือเบนโจทก์ทั้งสองไม่เคยเข้าหักร้างถางป่าทำเป็นนาในที่พิพาท จำเลยกับสามีได้ร่วมกันจับจองที่พิพาททำเป็นนาประมาณ ๔๐ ปีแล้ว นาพิพาทยังไม่มี ส.ค.๑ จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรนางเปนหรือกานกับโจทก์ที่ ๑ นางเปนเป็นบุตรจำเลย โจทก์ที่ ๒ อยู่ในฐานะผู้สืบสันดานคือเป็นหลานจำเลย จำเลยอยู่ในฐานะเป็นยายย่อมเป็นบุพการีของโจทก์ที่ ๒ การที่โจทก์ที่ ๒ ฟ้องจำเลยจึงเป็นการฟ้องบุพการี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๕๖๒ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย สำหรับโจทก์ที่ ๑ เป็นเพียงบุตรเขยไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานของจำเลย จำเลยไม่ได้เป็นบุพการีของโจทก์ที่ ๑ ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องห้ามทั้งหมด โจทก์ที่ ๑ ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยในที่พิพาทย่อมมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้ แล้ววินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ที่ ๑ กับพวก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share