คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่นายจ้างเมื่อลูกจ้างถูกทำละเมิดจนได้รับบาดเจ็บไม่สามารถทำงานให้นายจ้างได้ นายจ้างย่อมขาดแรงงานและมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิด (หรือนายจ้างของผู้ทำละเมิด) โดยคำนวณให้เท่ากับ จำนวนเงินที่นายจ้างชำระให้แก่ลูกจ้างนั้น
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 584 – 585/2513)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่ ก. พนักงานของโจทก์ขับขี่สวนทางมา ก. ได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่สามารถทำงานให้โจทก์ได้ตามปกติ ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา ๒ เดือนกับ ๑๘ วัน โจทก์จ่ายเงินเดือนให้ ก. ระหว่างหยุดพักรักษาตัวเพราะเจ็บป่วยเป็นเงิน ๑๑,๕๐๙.๖๘ บาท ขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ร่วมกันใช้เงินค่าขาดประโยชน์แรงงานเท่าเงินเดือนเป็นเงิน ๑๑,๕๐๙.๖๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ ๑ พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ เสียด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อ ก. เป็นลูกจ้างของโจทก์ ก็มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ การที่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อ ก. จนได้รับอันตรายบาดเจ็บไม่สามารถทำการงานให้แก่โจทก์ได้ตามปกติโจทก์ย่อมขาดแรงงานและมีสิทธิที่จะได้รับค่าสินค้าไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๑ โดยคำนวณให้เท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์ชำระให้แก่ ก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share