คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทหารประจำการ กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพลเรือน ต่อศาลชั้นต้นซึ่ง เป็นศาลพลเรือน กล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดในทางอาญา ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูล เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีถึงที่สุด เมื่อปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลย ที่ 2 เป็นนายทหารประจำการตำแหน่งรองเจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16(1) ศาลพลเรือนจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นนายทหารประจำการตำแหน่งรองเจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร และตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการองค์การแก้ว ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คดีส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒มีมูลที่จะรับไว้พิจารณา ส่วนกรณีของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ นั้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอที่จะให้เชื่อว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีส่วนร่วมในการออกคำสั่งให้ปลดโจทก์ คดีจึงไม่มีมูลมีคำสั่งให้ประทับฟ้องของโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้ยกฟ้อง
คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ถึงที่สุด
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม กับขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม แต่ตามรูปคดีมีปัญหาต่อไปว่า ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ แล้วยกขึ้นวินิจฉัยเองว่าคดีปรากฏชัดตั้งแต่ขณะที่ศาลประทับฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเท่านั้น ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลเฉพาะจำเลยที่ ๒ และปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายทหารประจำการตำแหน่งรองเจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร จึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖(๑) ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสำหรับจำเเลยที่ ๒ ได้
พิพากษายืน

Share