คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่พนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายแสดงวิธีวาดอวนหรือผูกอวนติดกับทุ่นเพื่อทำการวาดภาพไว้เป็นหลักฐานเป็นวิธีการสอบสวนเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ในชั้นสอบสวนจำเลยโต้เถียงว่าอวนของกลางเป็นของจำเลยโดยมิได้บอกว่าอวนของกลางมีตำหนิพิเศษอย่างไรที่แสดงว่าเป็นของจำเลยหรือนำอวนของจำเลยมาเปรียบเทียบกับอวนของกลางว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันกับของจำเลยแม้ในชั้นศาลจำเลยก็มิได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอวนของกลางเป็นของจำเลยแต่กลับอ้างว่าอวนที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานวัตถุเป็นอวนของผู้เสียหายที่นำมามอบให้พนักงานสอบสวนในภายหลังส่วนอวนของกลางที่ยึดได้เป็นของจำเลยมีเศษปูติดอยู่และยังคงเก็บอยู่ที่สถานีตำรวจซึ่งในข้อนี้พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่าอวนที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานวัตถุต่อศาลเป็นอวนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยโดยไม่ปรากฎว่ายังมีอวนของกลางเก็บอยู่ที่สถานีตำรวจอีกข้อกล่าวอ้างลอยๆของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ส่วนที่จำเลยอ้างว่าอวนของกลางมีลักษณะการเย็บอวนหรือเข้าอวนไม่เหมือนกับของผู้เสียหายและไม่มีทุ่นปิดนั้นย่อมเห็นได้ชัดว่าเมื่อจำเลยสาวอวนขึ้นเรือจำเลยน่าจะทราบดีว่าอวนดังกล่าวเป็นของผู้อื่นมิใช่ของตนประกอบกับตามพฤติการณ์แห่งคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยเอาอวนของผู้เสียหายไปโดยสำคัญผิดว่าเป็นอวนของตนเองหรือเป็นการเอาไปโดยถือวิสาสะหากแต่เป็นการเอาไปในลักษณะแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตจำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)และให้คืนอวนของกลางกับคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน4,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จำคุก 6 เดือน คืนอวนของกลางแก่ผู้เสียหาย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2538 เวลา 9 นาฬิกานายหยาหราด หมานจิตร ผู้เสียหายกับนายไข่แดง ไม่ทราบนามสกุลนำอวนสำหรับดักปู 30 ผืน ไปวางบริเวณทะเลปากอ่าวท่ากระจายต่อมาอวนดังกล่าวหายไป เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมยึดอวนจากเรือจำเลยเป็นของกลางตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.3มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ได้วางอวน พยานกับนายไข่แดงออกไปกู้อวน เมื่อไปถึงบริเวณที่วางอวนปรากฎว่าธงซึ่งเป็นทุ่นผูกอวนของพยานหายไปทั้งหมด แต่กลับมีธงซึ่งพยานจำได้ว่าเป็นของจำเลยลอยอยู่ 1 อัน วันรุ่งขึ้นอีกวันคือวันที่ 10 เมษายน 2538ตอนเช้า พยานแล่นเรือออกไปค้นหาอวนพบจำเลยกำลังสาวอวนอยู่บริเวณที่พยานวางอวน จึงเข้าไปสอบถามจำเลยอ้างว่าอวนและธงดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่พยานจำเลยได้ว่าอวนที่จำเลยสาวขึ้นเรือเป็นของพยาน จึงบังคับให้จำเลยแล่นเรือเข้าฝั่งและแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ปัญหาในเบื้องแรกมีว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของอวนของกลางหรือไม่ เห็นว่า ที่ผู้เสียหายจำอวนของกลางได้ว่าเป็นของตนเองได้ความจากผู้เสียหายว่า อวนของแต่ละเจ้าของมีวิธีผูกอวนติดกับทุ่นไม่เหมือนกัน อวนของผู้เสียหายใช้ด้ายขาวมัดติด 2 ตำแหน่ง โดยมัด2 ครั้ง 1 ตำแหน่ง และมัดครั้งเดียวอีก 1 ตำแหน่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้จำได้ว่าเป็นอวนของผู้เสียหาย และเมื่อรูดลูกทุ่นปิดจะมองไม่เห็นด้ายขาว นางรัชนี หมานจิตร ภริยาผู้เสียหายซึ่งโดยปกติเป็นคนมาดอวนหรือผูกอวนติดกับทุ่นของผู้เสียหายก็เบิกความสนับสนุนว่า อวนของผู้เสียหายมีลักษณะพิเศษและมีวิธีการมาดเชือกอวนเช่นเดียวกับที่ผู้เสียหายเบิกความ ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายได้แสดงวิธีการมาดอวนหรือผูกอวนกับทุ่นให้ร้อยตำรวจโทธวัชชัย ดีลิ่น พนักงานสอบสวนวาดภาพไว้เป็นหลักฐานตามภาพวาดประกอบคดีที่ 69/2538 เอกสารหมาย จ.4 และร้อยตำรวจโทธวัชชัยเบิกความยืนยันว่า อวนของกลางมีการมาดอวนหรือผูกอวนติดกับทุ่นตรงตามลักษณะภาพวาดดังกล่าว ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายเห็นอวนที่จำเลยสาวขึ้นเรือจากบริเวณที่ผู้เสียหายวางอวนจึงจำได้และมีความมั่นใจว่าอวนดังกล่าวเป็นของผู้เสียหายและได้บังคับให้จำเลยแล่นเรือเข้าฝั่งเพื่อแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทันที ที่จำเลยอ้างว่าการแสดงวิธีมาดอวนหรือผูกอวนติดกับทุ่นของผู้เสียหายมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยนั้น เห็นว่าการที่ร้อยตำรวจโทธวัชชัยให้ผู้เสียหายแสดงวิธีมาดอวนหรือผูกอวนติดกับทุ่นเพื่อให้ร้อยตำรวจโทธวัชชัยวาดภาพไว้เป็นหลักฐานเป็นวิธีการสอบสวนเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ร้อยตำรวจโทธวัชชัยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกระทำการตามหน้าที่ ไม่มีเหตุที่จะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย ส่วนผู้เสียหายและนางรัชนีไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนทั้งได้ความจากนางรัชนีว่านางรัชนีเป็นญาติกับจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าอวนของกลางเป็นของผู้เสียหายเพื่อปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจโทธวัชชัยอีกว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยโต้เถียงว่าอวนของกลางเป็นของจำเลยแต่เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ โดยมิได้บอกว่าอวนของกลางมีตำหนิพิเศษอย่างไรที่แสดงว่าเป็นของจำเลยหรือนำอวนของจำเลยมาเปรียบเทียบกับอวนของกลางว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันกับของจำเลยแม้ในชั้นศาลจำเลยก็มิได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอวนของกลางเป็นของจำเลยแต่กลับอ้างว่าอวนที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานวัตถุเป็นอวนของผู้เสียหายที่นำมามอบให้พนักงานสอบสวนในภายหลังส่วนอวนของกลางที่ยึดได้เป็นของจำเลยมีเศษปูติดอยู่และยังคงเก็บอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าชนะ ในข้อนี้ร้อยตำรวจโทธวัชชัยเบิกความยืนยันว่า อวนที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานวัตถุต่อศาลเป็นอวนของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยโดยไม่ปรากฎว่ายังมีอวนของกลางเก็บอยู่ที่สถานีตำรวจดังกล่าวข้อกล่าวอ้างลอย ๆของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ เชื่อว่า อวนของกลางที่เป็นพยานวัตถุในคดีนี้เป็นของผู้เสียหายจริง ปัญหาว่า จำเลยเอาอวนของผู้เสียหายไปโดยทุจริตหรือไม่ ได้ความจากจำเลยว่า อวนของกลางมีลักษณะการเย็บอวนหรือเข้าอวนไม่เหมือนกับของผู้เสียหายและไม่มีทุ่นปิด ฉะนั้นเมื่อจำเลยสาวอวนขึ้นเรือจำเลยน่าจะทราบดีว่าอวนดังกล่าวเป็นของผู้อื่นมิใช่ของตนเอง ประกอบกับตามพฤติการณ์คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยเอาอวนของผู้เสียหายไปโดยสำคัญผิดว่าเป็นอวนของตนเองหรือเป็นการเอาไปโดยถือวิสาสะ หากแต่เป็นการเอาไปในลักษณะแสดงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต คดีนี้แม้พยานโจทก์บางปากจะเบิกความแตกต่างกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยแต่ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่พยานอาจจำเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปเพราะพยานหลักฐานส่วนอื่นของโจทก์มั่นคงเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share