แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 นั้น หาจำต้องเป็นการมอบหมายให้จัดการเพื่อหาหรือให้ได้ประโยชน์อย่างใดเสมอไปไม่ฉะนั้น ประโยชน์ที่เกิดการเสียหายจึงมิใช่เพียงประโยชน์อันได้จากการจัดการทรัพย์เท่านั้นแต่อาจเป็นประโยชน์อื่นใดก็ได้ซึ่งข้อสำคัญมีเพียงว่า ประโยชน์ที่เกิดการเสียหายนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์เท่านั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ยางรถโจทก์เสียหาย เพลาเครื่องยนต์ ตัวถังจะต้องซ่อมแซมรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 35,000 บาท เป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าความเสียหายในตัวทรัพย์ของโจทก์ที่ได้รับล้วนเป็นประโยชน์ของโจทก์ที่เป็นเงินอันอยู่ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิ้นหาใช่เป็นเพียงการทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายเท่านั้นไม่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 แล้ว ศาลชั้นต้นก็ต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วสั่งไปตามกระบวนความ(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1-2/2511)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ควบคุมและครอบครองรถแทร็กเตอร์ของโจทก์ 9 คัน เพื่อนำไปแสดงและไถแข่งขันในงานแสดงทางการกสิกรรมและนำไปซ่อมแซม จำเลยโดยเจตนาทุจริตได้เบียดบังนำรถแทร็กเตอร์ของโจทก์ไปใช้ไถไร่ของจำเลย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน คือ ยางเสีย เครื่องยนต์ และตัวถังชำรุด จำต้องเสียเงินค่าซ่อมแซมรวมทั้งสิ้นประมาณ 35,000 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352, 353
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องแล้ว เห็นว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ยังไม่เป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ส่วนความผิดตามมาตรา 353 นั้นโจทก์มิได้มอบทรัพย์ให้จำเลยหาประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแต่ประการใด คดีโจทก์ไม่มีมูลให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้วขอให้รับฟ้อง
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 คงบัญญัติถึงการกระทำที่เป็นผิดไว้แต่เพียงว่า “ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น” เท่านั้น เมื่อเป็นดังนี้จึงเห็นได้ว่าการมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นนี้ หาจำต้องเป็นการมอบหมายให้จัดการเพื่อหาหรือให้ได้ประโยชน์อย่างใดเสมอไปไม่ ฉะนั้น ประโยชน์ที่เกิดการเสียหายจึงมิใช่เพียงประโยชน์อันได้จากการจัดการทรัพย์เท่านั้น แต่อาจเป็นประโยชน์อื่นใดก็ได้ซึ่งข้อสำคัญเพียงว่าประโยชน์ที่เกิดการเสียหายนั้น จะต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์เท่านั้น สำหรับคดีนี้ที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่ารถของโจทก์ยาง 4 เส้นเสียหาย เพลา เครื่องยนต์ ตัวถังรถหากจะต้องซ่อมแซมจะต้องเสียเงินประมาณ 60,000 บาท ก็ดี รถต้องเปลี่ยนเครื่องอะไหล่ ซ่อมแซมเป็นเงินประมาณคันละ 2,000 บาท ก็ดีรถต้องเปลี่ยนยาง 4 เส้น เครื่องยนต์ทรุดโทรม เพลารถเสีย รวมถึงตัวถังรถต้องใช้เงินประมาณ 35,000 บาท เพื่อซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่จะขายต่อไปได้ก็ดี ล้วนเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่า ความเสียหายในตัวทรัพย์ที่โจทก์ได้รับล้วนเป็นประโยชน์ของโจทก์ที่เป็นเงินอันอยู่ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิ้น หาใช่เป็นเพียงการทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยมาครบถ้วน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 353 ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงถูกต้องตามกฎหมาย ศาลต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 162 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยมิได้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พร้อมกันพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วสั่งไปตามกระบวนความ