แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะที่ยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่มีข้อตกลงให้โจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ทราบคำบอกกล่าวของโจทก์ที่ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า มีสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์มีกำหนด 12 ปี โดยจำเลยที่ 1 ยกบ้านให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินของโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ และจำเลยที่ 1 จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันอีกไม่ได้
จำเลยที่ 1 ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีหลักฐานการเช่าและไม่มีสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินพิพาท โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ออกไปจากที่พิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ยอมออก จึงเป็นการอยู่โดยละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๖๘๖ จำเลยเป็นผู้เช่าส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าวปลูกบ้านอยู่อาศัย ค่าเช่าเดือนละ ๑๑๐ บาท ครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว จำเลยที่ ๒ เข้าอยู่อาศัยบ้านดังกล่าวในฐานะบริวารของจำเลยที่ ๑ ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทราบล่วงหน้าว่าไม่ประสงค์จะให้เช่าอีกต่อไป ครั้นครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้หมดสิ้น
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่ผู้เช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ตกลงกับสามีจำเลยที่ ๑ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ สร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์โดยโจทก์จะยอมจดทะเบียนให้จำเลยมีสิทธิเหนือพื้นดินมีกำหนด ๑๒ ปี และเพื่อเป็นการตอบแทนจำเลยที่ ๑ ยอมยกบ้านดังกล่าวให้โจทก์เมื่อครบกำหนดเวลานั้น ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินบนที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์และสามีไม่เคยตกลงให้จำเลยที่ ๑ ปลูกบ้านในที่ของโจทก์โดยให้มีสิทธิเหนือพื้นดินหรือจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้จำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้องแย้งและบังคับคดีตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคดี โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ ๑ และบริวาร ให้รื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดของโจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓ เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีข้อตกลงให้โจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ทราบคำบอกกล่าวของโจทก์ที่ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ ๑ ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์แล้ว การที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า มีสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์จำเลยที่ ๑ เพราะโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ ๑ ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์มีกำหนด ๑๒ ปี โดยจำเลยที่ ๑ ยกบ้านให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ไม่ทราบว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ออกจากที่ดินของโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ และจำเลยที่ ๑ จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เช่าที่ดินพิพาทโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าไม่มีการเช่าก็น่าจะยกฟ้องโจทก์แต่กลับวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ อยู่ในที่ดินพิพาทโดยละเมิดแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยที่ ๑ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและพิพากษาเกินคำขอนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีหลักฐานการเช่าและไม่มีสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินพิพาท โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมออก ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๑ ยังอยู่ในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการอยู่โดยละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว หาเป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนหรือพิพากษาเกินคำขอไม่
พิพากษายืน