คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964-1965/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดที่บังคับว่าเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปีหรือไม่ โจทก์จะต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์เสียก่อนฟังคดี สำหรับมาตรา 18(2)ที่บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (2) พิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานหรือของสมาคมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของ รัฐวิสาหกิจนั้นมีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์นั้นได้แต่ไม่ได้มีความหมายว่า ถ้าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ โจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่กำหนดให้พนักงานซึ่งเกษียณอายุคือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นเพียงบทกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน การที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสอง การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีในวันเวลาใด ตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 8 จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการ รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 21

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยโจทก์ที่ 1 เข้าทำงาน พ.ศ. 2499 โจทก์ที่ 2 เข้าทำงาน พ.ศ. 2501โจทก์ทั้งสองได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละ 20,060 บาทต่อเดือนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2535 เนื่องจากเกษียณอายุ ในการทำงานจำเลยกำหนดระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 10 วัน หากปีใดหยุดไม่ครบก็มีสิทธินำวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปสะสมหยุดในปีถัดไปได้ไม่เกิน 2 ปี แต่ทั้งนี้รวมแล้วต้องไม่เกิน20 วัน เมื่อจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่จำเลยไม่จ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน20 วัน เป็นเงิน 13,373 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 14 วัน เป็นเงิน10,698 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจมีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการท่าเรือประเทศไทย พ.ศ. 2494 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องเกี่ยวกับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ซึ่งโจทก์ทั้งสองจะต้องเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์เป็นผู้วินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 มาตรา 18(2) โจทก์ทั้งสองมิได้ถูกจำเลยสั่งให้ออกจากงานเพราะเลิกจ้าง แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และ 11 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 21โจทก์ทั้งสองไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีด้วยความสมัครใจเองการที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าจ้าง 19 วัน เป็นเงิน 11,495.99 บาท และโจทก์ที่ 2มีสิทธิได้รับค่าจ้าง 11 วัน เป็นเงิน 7,355.33 บาท ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยาน โจทก์ทั้งสองแถลงว่า จำนวนวันและจำนวนเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ถูกต้องตามที่จำเลยคำนวณมาในคำให้การ แล้วโจทก์ทั้งสองกับจำเลยต่างแถลงไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ทั้งสอง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 11,495.99 บาท โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 7,355.33 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ โจทก์ทั้งสองต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เสียก่อนศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดที่บังคับว่า โจทก์ทั้งสองต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ดังที่จำเลยอุทธรณ์กล่าวอ้าง สำหรับมาตรา 18(2) ที่บัญญัติว่า”ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้(2) พิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานหรือของสมาคมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของ รัฐวิสาหกิจนั้น”ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทั้งสองได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์นั้นได้แต่ไม่ได้มีความหมายว่า ถ้าโจทก์ทั้งสองจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลไม่ได้โจทก์จึงอำนาจฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ มิใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นการให้ออกจากงานเพราะผลบังคับของกฎหมาย คือพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518และการที่โจทก์ทั้งสองไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 21 ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่กำหนดให้พนักงานซึ่งเกษียณอายุคือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นเพียงบทกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสอง และที่โจทก์ทั้งสองไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี ก็เห็นว่า จำเลยไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสองหยุดพักผ่อนประจำปีในวันเวลาใดตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 8จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ทั้งสองไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 2
พิพากษายืน

Share