แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่วินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง โดยฟ้องจำเลยที่ 1 เข้ามาด้วย จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องแย้งโจทก์ให้รับจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้างหรือให้ใช้ค่าเสียหายแทนได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๑๒ เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๑๒ กล่าวหาว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม โดยเลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เนื่องจากเป็นตัวแทนในการยื่นและเจรจาข้อเรียกร้อง เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน และเป็นการเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๑๒ ได้ร่วมกันวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ และมาตรา ๑๒๓ และมีคำสั่งที่ ๑๔๔/๒๕๒๔ ให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๑๒ ไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ ๑ จงใจขัดคำสั่งของหัวหน้าแผนก ชอบออกนอกแผนกในเวลาทำงาน ชอบปิดเครื่องคุยกันในเวลาทำงาน เฉื่อยชาไม่ตั้งใจทำงาน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เรียกจำเลยที่ ๑ มาตักเตือน จำเลยที่ ๑ไม่ยอมรับคำตักเตือน กลับเสนอขอให้โจทก์จ่ายเงินให้ตามกฎหมายแล้วยินดีออกจากงาน โจทก์จึงจ่ายเงินตามกฎหมายให้แก่จำเลยที่ ๑ จำนวน ๑๑,๓๔๐ บาท จำเลยที่ ๑ รับเงินดังกล่าวแล้วไม่มาทำงานด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์มิได้กลั่นแกล้งหรือขัดขวางการเป็นกรรมการสหภาพแรงงานของจำเลยที่ ๑ และไม่เป็นการเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงมีผลใช้บังคับ กรณีมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ ๑๔๔/๒๕๒๔
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า มิได้กระทำการตามที่โจทก์ฟ้อง มูลเหตุที่แท้จริงที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เพราะโจทก์ไม่พอใจที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้แทนลูกจ้างเจรจาข้อเรียกร้องและเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง หลังจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงานแล้ว โจทก์ยังเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับโจทก์รับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมหรือมิฉะนั้นให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายที่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๖๑ บาทนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ อันเป็นวันที่เลิกจ้างถึงวันฟ้องแย้ง รวมเป็นเงิน ๗,๗๔๗ บาท และให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับเงินต้นสองจำนวนนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๑๒ ให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งโดยยืนยันตามคำฟ้องเดิมและต่อสู้ว่าเมื่อคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จึงยังไม่มีสิทธิใดตามคำสั่งนั้น และยังมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายอันจะมีสิทธิฟ้องแย้งขอกลับเข้าทำงานหรือเรียกค่าเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ และเพราะจำเลยที่ ๑ เป็นผู้แทนในการเจรจา การเลิกจ้างของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่สั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ ๑ จึงมีส่วนได้เสียตามคำสั่งดังกล่าว โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และเรียกค่าเสียหายได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้บังคับตามฟ้องแย้ง ให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ วันละ ๕๔ บาท นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ ถึงวันฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๑ คำขออื่นตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องคดีก็คือปฏิเสธไม่ยอมรับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ ๑จึงถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง เมื่อนายจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ชี้ขาดให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน ลูกจ้างย่อมมีอำนาจโดยบริบูรณ์ที่จะฟ้องนายจ้างให้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้โดยลำพัง
พิพากษายืน