แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียวแต่ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทุกคนตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในสัญญาจำนองด้วย การจำนองของจำเลยเป็นการจำนองร่วมกัน ดังนั้น แม้จำเลยบางคนอาจไม่ได้รับคำบอกกล่าว แต่เมื่อจำเลยอื่นได้รับทราบคำบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์แล้ว ก็มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยทุกคนย่อมต้องทราบเช่นกัน การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้กู้เงินไปจากโจทก์โดยจำเลยทั้งห้าได้นำที่ดินมาจำนองเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญา โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย จึงขอให้พิพากษาและบังคับ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ให้การต่อสู้คดีหลายประการ และต่อสู้ว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวบังคับจำนอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ถ้าไม่ชำระให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดบังคับจำนอง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ทนายโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทุกคนด้วย โดยเฉพาะจำเลยที่ ๓ โจทก์มีใบตอบรับตามเอกสารหมาย จ.๑๖ ซึ่งมีผู้ลงชื่อรับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไว้แทนจำเลยที่ ๓ เป็นหลักฐานด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้รับคำบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์แล้วส่วนจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ นั้น เมื่อได้ตรวจสอบหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองที่มีถึงจำเลยทั้งสามก็ปรากฏว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสามตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในหนังสือสัญญาจำนอง โดยเฉพาะจำเลยที่ ๔ โจทก์มีใบรับเอกสารหมาย จ.๑๕ ซึ่งมีผู้ลงชื่อรับแทนจำเลยที่ ๔ เป็นหลักฐานด้วยส่วนจำเลยที่ ๕ ก็ปรากฏว่า จำเลยที่ ๕ เป็นภริยาของจำเลยที่ ๓ จึงย่อมจะต้องทราบคำบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว สำหรับจำเลยที่ ๒ แม้จะปรากฏข้อความบันทึกไว้ที่หน้าซองหนังสือบอกกล่าวว่าบ้านรื้อถอนไปแล้วก็ตาม จำเลยที่ ๒ ก็มิได้จำนองประกันเงินกู้ของจำเลยที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียวซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ ๒ ยังไม่ทราบคำบอกกล่าวแต่จำเลยที่ ๒ ได้จำนองร่วมกับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ เมื่อจำเลยอื่นได้รับทราบคำบอกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ ๒ ก็ย่อมจะต้องทราบเช่นกัน นอกจากนั้นจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ ก็มิได้นำสืบปฏิเสธเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ ได้รับทราบคำบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์แล้วเช่นกัน แต่ที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ร่วมรับผิดในต้นเงิน ๘๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๘ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๐ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ มิได้เป็นลูกหนี้ร่วมแต่เป็นผู้ที่นำอสังหาริมทรัพย์ของตนมาจำนองเป็นประกันตามวงเงินที่กำหนดในสัญญาจำนองเท่านั้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงไม่ต้องรับผิดเกินวงเงินตามสัญญาจำนอง
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะส่วนความผิดของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองแต่ละฉบับ