คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแบ่งส่วนราชการภายในกรมนั้นต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อไม่เคยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมการปกครองให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการของกรมการปกครอง คงมีแต่คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมอบอาคารโรงพิมพ์และอุปกรณ์ทั้งสิ้นแก่กรมการปกครอง โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงหาเป็นส่วนราชการของกรมการปกครองไม่
ส่วนที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ บัญญัติความหมายของส่วนราชการให้รวมถึงสำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐด้วยนั้นก็เพื่อประโยชน์ในการที่สำนักงบประมาณจะจัดทำและควบคุมงบประมาณแผ่นดินของส่วนราชการ แต่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เคยเสนอประมาณการรายรับรายจ่ายต่อสำนักงบประมาณ ทั้งไม่เคยมีการตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้ดำเนินกิจการของโรงพิมพ์โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว
เมื่อความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้นในเบื้องต้นผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าพนักงานเสียก่อนและเมื่อได้ความว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองแล้ว จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์โดยตำแหน่งตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงาน ไม่อาจกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ได้
เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ปัญหาว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นทรัพย์สินของกรมการปกครองหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย และที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในประเด็นอื่นที่ศาลอุทธรณ์มิได้นำมาเป็นเหตุยกฟ้องก็ไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยทั้งเจ็ดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมการปกครอง ตลอดจนมีหน้าที่จัดการและรักษาทรัพย์สินของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง เป็นหน่วยงานของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อันเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ทรัพย์สินของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง เป็นทรัพย์สินของกรมการปกครอง เงินทั้งปวงที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นได้รับมาจะต้องนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งสิ้นตามกฎหมาย จำเลยทั้งเจ็ดเป็นกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นโดยตำแหน่ง ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ต้องร่วมกันควบคุมดูแลรักษาและนำเงินซึ่งโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นได้รับมาส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมาย แต่หาได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายไม่ กล่าวคือ จำเลยทั้งเจ็ดได้บังอาจร่วมกันลงความเห็นและเซ็นชื่ออนุมัติในมติเวียนของคณะกรรมการดำเนินงานโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเรื่องขออนุมัติเบิกจ่ายเงินกำไรสะสมของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น เพื่อจ่ายเป็นเงินภาษีเงินได้และค่าปรับประจำปีของกรรมการและผู้ปฏิบัติงานตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือกิจการโรงพิมพ์ให้แก่กรมสรรพากร และขออนุมัติมอบอำนาจให้อธิบดีกรมการปกครองในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินภาษีดังกล่าวนี้ได้ รวม ๒ ครั้ง และจำเลยที่ ๗ กับสมุห์บัญชีของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกันออกเช็คของธนาคารออมสินในบัญชีของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจ่ายเงินให้แก่กระทรวงการคลังแล้วมอบให้กรมสรรพากรไปตามที่จำเลยทั้งเจ็ดได้ลงมติอนุมัติ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๕๑, ๑๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๒) มาตรา ๗, ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔, ๒๔(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๕ ระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๐ ออกตามความในมาตรา ๒๑(๒) แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑ มาตรา ๔ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔ ข้อบังคับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าด้วยการฝากและถอนเงินคืนต่อกระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๔๙๕ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๕ ข้อบังคับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินที่พึงชำระให้แก่รัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๕ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๕ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ข้อ ๓๒, ๓๓
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นมีสภาพเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของอันเป็นรัฐวิสาหกิจ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดตามฟ้องเป็นการกระทำไปตามคำสั่งและระเบียบที่ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานคณะกรรมการดำเนินงานได้วางไว้ และถือปฏิบัติกันมานานแล้ว กรณีมีเหตุทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะกระทำได้เป็นการขาดเจตนากระทำผิดทางอาญา จำเลยทั้งเจ็ดไม่มีความผิดตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริง และจำเลยทั้งเจ็ดฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาโจทก์ว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่กรมมหาดไทยหรือกรมการปกครองในปัจจุบันรับโอนโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นมา การแบ่งส่วนราชการของกรมจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และต่อมาเมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ก็บัญญัติไว้เช่นเดียวกันว่า การแบ่งส่วนราชการภายในกรมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ไม่เคยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมการปกครองให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการของกรมการปกครอง คงมีแต่คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมอบอาคารโรงพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์ทั้งสิ้นแก่กรมมหาดไทยหรือกรมการปกครองในปัจจุบัน จนกระทั่งวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งให้จัดแบ่งส่วนราชการให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการ สังกัดกรมการปกครองส่วนที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ได้บัญญัติความหมายของส่วนราชการว่า หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐแต่ไม่รวมตลอดถึงรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติถึงความหมายของส่วนราชการไว้ก็เพื่อประโยชน์ในการที่สำนักงบประมาณจะจัดทำและควบคุมงบประมาณแผ่นดินของส่วนราชการ แต่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เคยเสนอประมาณการรายรับและรายจ่ายต่อสำนักงานงบประมาณ ทั้งไม่เคยมีการตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้ดำเนินกิจการของโรงพิมพ์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว
ความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้น ในเบื้องต้นผู้กระทำผิดจะต้องเป็นเจ้าพนักงานเสียก่อน เมื่อโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครอง จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นโดยตำแหน่งตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ไม่เป็นเจ้าพนักงาน ไม่อาจกระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าวได้
และวินิจฉัยฎีกาจำเลยว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ฉะนั้น ปัญหาว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นและอุปกรณ์การพิมพ์เป็นทรัพย์สินของกรมการปกครองหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในประเด็นอื่นที่ศาลอุทธรณ์มิได้นำมาเป็นเหตุยกฟ้องนั้น ไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๖ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share