คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และการจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เป็นความผิดคนละตอนแยกกันได้จำเลยมีกระสุนปืนจำนวน 51 นัดไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนดังกล่าวไปจำนวน 24 นัด ดังนี้เป็นความผิด 2 กรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2524 เวลากลางวัน จำเลยมีกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ 12 จำนวน 51 นัดไว้ในครอบครองเพื่อขายจำหน่ายอันเป็นการมีไว้สำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต กับจำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนดังกล่าวจำนวน 25 นัดแก่ผู้ซื้อ อันเป็นการจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 24, 25, 72, 73 ฯลฯริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ข้อหามีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองสำหรับการค้า จำคุก 2 ปี ข้อหาจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าจำคุก 2 ปี รวม 2 กระทงจำคุก 4 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่า วันเกิดเหตุจำเลยมีกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 51 นัด ไว้ในความครอบครองเพื่อขายหรือจำหน่ายอันเป็นการมีไว้สำหรับการค้าโดยมิได้รับอนุญาต และในวันเดียวกันจำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนที่จำเลยมีอยู่นั้นจำนวน 25 นัดให้แก่ผู้มีชื่ออันเป็นการจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน ผิดกฎหมายหลายบทนั้นเห็นว่าการมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความผิดคนละตอนแยกกันได้จากการจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าดังนั้นการที่จำเลยมีกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 51 นัดไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดกรรมหนึ่ง และการที่จำเลยได้จำหน่ายกระสุนปืนดังกล่าวไปจำนวน 25 นัดอันเป็นการจำหน่ายเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกา

พิพากษายืน

Share