แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินมีโฉนดของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 กำลังมีคดีพิพาทอยู่กับโจทก์ไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันหนี้ โดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตร่วมกันใช้กลฉ้อฉลแก่โจทก์ โดยไม่มีค่าตอบแทนและมิได้มีเจตนาทำสัญญาจำนองกันโดยแท้จริง ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจำนอง จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าการจำนองได้กระทำโดยสุจริต มีค่าตอบแทน และมิใช่เป็นการฉ้อฉลโจทก์ ดังนี้คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองร่วมคบคิดกันทำการฉ้อฉลโจทก์ด้วยการเอาที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นความกับโจทก์ไปจดทะเบียนทำนิติกรรมจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและมิได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมสัญญาจำนองกันแท้จริงดังฟ้องหรือไม่ แม้คดีที่โจทก์พิพาทกับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่คดียังไม่ยุติเพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ถ้าศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 อาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ได้เมื่อข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในคดีนี้จำเลยทั้งสองยังโต้เถียงอยู่อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ จำต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความเสียก่อน การสั่งงดสืบพยานของคู่ความแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ ๑ เป็นสามีโจทก์ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๘๕๖๓ เป็นของโจทก์ จำเลยที่ ๑ มีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้โจทก์โอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าและขอเพิกถอนการโอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๑คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนาทุจริต จึงพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอที่ขอให้เพิกถอนการโอน ส่วนคำขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้มีเจตนาทุจริตร่วมกันใช้กลฉ้อฉลโจทก์ และโดยไม่มีค่าตอบแทน กล่าวคือจำเลยที่ ๑ ได้นำโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ ๑ กำลังพิพาทอยู่กับโจทก์ ไปทำนิติกรรมจำนองไว้ต่อจำเลยที่ ๒เพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืม จำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมสัญญาจำนองกันโดยแท้จริงแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหายเพราะถ้าศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ไม่อาจติดตามบังคับคดีเอาที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๕๖๓ระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นของจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตด้วยความยินยอมของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นไปโดยสุจริตมิได้สมคบกันฉ้อฉลโจทก์ นิติกรรมจำนองได้กระทำโดยมีค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยทั้งสองคดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ ๑ คบคิดกับจำเลยที่ ๒ ร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์ด้วยการเอาที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ เป็นความกับโจทก์ไปจดทะเบียนทำนิติกรรมจำนองไว้กับจำเลยที่ ๒ โดยไม่มีค่าตอบแทนและมิได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมสัญญาจำนองกันแท้จริงดังฟ้องหรือไม่ แม้คดีที่โจทก์พิพาทกับจำเลยที่ ๑ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท อันเป็นผลให้จำเลยที่ ๑ อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งถือว่าผูกพันคู่ความคือโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตราบเท่าที่ยังมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ยุติ เพราะโจทก์ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ออกไปเพื่อรอฟังผลคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๙ ซึ่งหากมีการเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปตามคำขอของจำเลยที่ ๑ กลับจะทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี และได้ข้อเท็จจริงแน่ชัดขึ้น นอกจากนั้นถ้าศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวประการใด การกระทำของจำเลยที่ ๑ อาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ได้ ข้อที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ คบคิดกับจำเลยที่ ๒ ร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์ด้วยการเอาที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนทำนิติกรรมจำนองไว้กับจำเลยที่ ๒ โดยไม่มีค่าตอบแทนและมิได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมสัญญาจำนองกันแท้จริง และขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองยังโต้เถียงอยู่ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ตามประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความเสียก่อน ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษาคดีไปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี