คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกำลังซื้อ บุหรี่อยู่ที่ร้านริมถนน เมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจก็มีท่าทางพิรุธตกใจและรับขับรถจักรยานยนต์หลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงขับรถจักรยานยนต์ไล่ตาม ไปและจับกุม ตัว ได้ เมื่อตรวจ รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับปรากฏว่าไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การต่อ เจ้าพนักงานตำรวจว่าขอยืมรถมาจากนาย ปอย มิใช่นายเชียร ดัง ที่เบิกความต่อศาลทั้งในชั้นจับกุมจำเลยแจ้งชื่อ เท็จ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยได้รับ รถจักรยานยนต์ของกลางไว้ โดย รู้ว่าเป็นทรัพย์ซึ่ง ได้ มา จากการ กระทำผิดฐาน ชิงทรัพย์อันเป็นความผิดฐาน รับของโจร โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาชิงทรัพย์ ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดข้อหารับของโจร ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐาน รับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339,340 ตรี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ให้ลงโทษจำคุก 18 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุได้มีคนร้าย 2 คนชิงทรัพย์คือรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน ฉ-1675 นครศรีธรรมราช ไปจากผู้เสียหาย ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวอยู่ในครอบครองของจำเลย ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความเพียงปากเดียวว่า เห็นคนร้ายจากแสงไฟสปอทไลท์ที่เสาไฟฟ้าจำหน้าคนร้ายได้คนเดียวคือคนที่ใช้อาวุธปืนจี้ เมื่อวันที่ 20เมษายน 2531 พยานได้ไปดูตัวคนร้ายและรถจักรยานยนต์ของกลางจำได้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของพยาน แต่จำเลยไม่ใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนจี้และจะใช่คนร้ายอีกคนหนึ่งหรือไม่ก็จำไม่ได้ พยานได้บอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจไปแล้วว่าจำเลยไม่ใช่คนร้าย เช่นนี้ พยานโจทก์จึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแต่ตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจประมูล บุตรครุฑ ผู้จับกุมได้ความว่าก่อนจับกุมจำเลยกำลังซื้อบุหรี่อยู่ที่บ้านริมถนน เมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจก็มีท่าทางพิรุธตกใจและรีบขับรถจักรยานยนต์หลบหนีพยานจึงขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามไปและจับกุมตัวได้ เมื่อตรวจรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับไม่พบหลักฐานใด ๆ จำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนในชั้นสอบสวนจำเลยก้ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าขอยืมรถมาจากนายปอยมิใช่นายเชียรดังที่มาเบิกความต่อศาล ทั้งในชั้นจับกุมจำเลยแจ้งชื่อว่าชื่อสายัญณ์ รัตนกระจ่าง ซึ่งเป็นเท็จ เพราะตามบัตรประจำตัวประชาชนจำเลยชื่อประจวบ เสละพัฒน์ ดังนี้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ซึ่งได้มาจากการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์อันเป็นความผิดฐานรับของโจร และศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม…”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357วรรคสอง ให้จำคุก 4 ปี.

Share