คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495 เดิมนั้นการสมรสซ้อนแม้จะไม่ถูกต้องก็ยังไม่เป็นโมฆะ จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะจึงต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านยังมีอยู่ ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทโดยธรรมและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก จึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ การที่ผู้คัดค้านมีสามีมาก่อนหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกหรือทำให้การจัดการมรดกไม่เหมาะสมแต่ประการใด และการที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเด็กชาย ธ. เป็นบุตรของผู้ตายกับผู้คัดค้านนั้น แม้ไม่ถูกต้องก็เป็นการอ้างไปตามบันทึกในทะเบียนสมรสซึ่งผู้ตายกับผู้คัดค้านแจ้งไว้ ยังไม่ถึงขนาดที่ทำให้ผู้คัดค้านไม่เหมาะสมที่จะจัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายเหลือ พ้นภัยพาลนายเหลือถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินและบ้าน ผู้ร้องได้เคยติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อจัดการโอนทรัพย์มรดก แต่ไม่อาจจัดการได้ ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลือ พ้นภัยพาลผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเหลือ พ้นภัยพาล ผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยเจตนาทุจริตไม่ได้แจ้งให้ผู้คัดค้านและเด็กชายธีรพงษ์ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายทราบ ผู้ร้องจึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลือ พ้นภัยพาล ผู้ตายต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวิรัตน์ พ้นภัยพาล ผู้ร้องและนางแดง พ้นภัยพาล ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลือ พ้นภัยพาล ร่วมกัน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาในข้อแรกว่า การที่นายเหลือ (เจ้ามรดก) ทำการสมรสกับผู้คัดค้าน เป็นการสมรสซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 จึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 ถือเท่ากับไม่มีการสมรส ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ภรรยาของนายเหลือนั้น เห็นว่า การสมรสแม้จะไม่ถูกต้องประการใดก็ตาม ก็ยังไม่เป็นโมฆะ นอกจากศาลได้พิพากษาให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495เดิมบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ดังนั้นตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องให้การสมรสระหว่างนายเหลือกับผู้คัดค้านเป็นโมฆะและยังไม่มีคำพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่างนายเหลือกับผู้คัดค้านยังมีอยู่ ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทโดยธรรมและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกรายนี้
ฎีกาข้อต่อมา ผู้ร้องอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่เหมาะสม เพราะเคยมีสามีมาก่อนแล้ว และมีเจตนาไม่สุจริต เห็นว่า การมีสามีมาก่อนหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการมรดก หรือทำให้การจัดการมรดกไม่เหมาะสมแต่ประการใด ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเด็กชายธีรพงษ์เป็นบุตรของผู้ตายกับผู้คัดค้านนั้น แม้จะไม่ถูกต้องก็เป็นการอ้างไปตามบันทึกในทะเบียนสมรสซึ่งผู้ตายกับผู้คัดค้านแจ้งไว้ยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ผู้คัดค้านไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง การร้องคัดค้านเข้ามาก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นทั้งสองประการ”
พิพากษายืน

Share